ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง ไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อ เจตนาคู่สัญญาสำคัญกว่า
จำเลยตกลงทำสัญญาเช่ารถยนต์คันพิพาทกับโจทก์ตามเอกสารซึ่งระบุว่า เป็นสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง มีกำหนด 48 เดือน ค่าเช่าเดือนละ 19,100 บาท หรือคิดเป็นเงินค่าเช่าทั้งหมด 916,800 บาท และเงินประกันการเช่าอีก 57,300 บาท เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าจำเลยจะซื้อทรัพย์สินที่ให้เช่าหรือรถยนต์คันพิพาทได้ในราคา 200,000 บาท จึงรวมเป็นเงินที่ผู้เช่าหรือจำเลยจะต้องชำระทั้งหมดไม่น้อยกว่า 1,174,100 บาท โดยโจทก์คิดเป็นราคารถยนต์ คันพิพาทจำนวน 803,738.32 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 56,261.68 บาท สัญญาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่ง ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง โดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
โจทก์และจำเลยต่างมีความประสงค์ในทางสุจริตตามนัยแห่งมาตรา 6 และมาตรา 368 ว่า ต้องการจะใช้บังคับแก่กันในลักษณะเช่าทรัพย์หรือเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง จึงต้องอนุวัตน์ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญาดังกล่าวเป็นสำคัญ อีกทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญาว่าด้วยทรัพย์สินที่เช่า ระยะเวลาการเช่า ค่าเช่าและเงินประกันการเช่า การประกันภัยและหน้าที่ของผู้เช่า การสูญหายและเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดสัญญา และการบอกเลิกสัญญาของผู้เช่า ล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะของการเช่าทรัพย์สินตามนัยแห่งมาตรา 537 ถึงมาตรา 564 ทั้งสิ้น แม้จะมีข้อตกลงเป็นพิเศษที่กำหนดให้ผู้เช่าสามารถเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าได้โดยต้องส่งคำบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่ผู้ให้เช่าทราบไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนสัญญาเช่าจะสิ้นสุดลงก็เป็นแต่เพียงข้อยกเว้นในทางให้สิทธิแก่ผู้เช่าบางประการในการเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ก็ได้เท่านั้น กรณีมิใช่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันมาตั้งแต่เริ่มแรกดังสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่ารถยนต์แบบลิสซิ่งรายพิพาทจึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17/2543)