โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจา ต่อมาผู้แทนของจำเลยที่ 2 ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกของจำเลยที่ 2 เป็นส่วนรวมโดยไม่ผ่านมติของที่ประชุมใหญ่แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้นำไปจดทะเบียนที่สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อจะประกาศใช้บังคับแก่สมาชิกของจำเลยที่ 2 และลูกจ้างจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยทั้งสองทำขึ้นดังกล่าว ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อจำเลยที่ 1 แจ้งข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1เช่นกัน ต่อมาจำเลยทั้งสองเจรจาตกลงกันได้จึงได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับที่พิพาทกันขึ้นโดยกระทำถูกต้องตามขั้นตอน ข้อตกลงที่ทำชี้แจงดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยทั้งสองทำขึ้นนั้นได้ทำขึ้นถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยที่ 1 ที่ 2ทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.5 มีผลกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกจำเลยที่ 2เป็นส่วนรวม การดำเนินการของจำเลยที่ 2 เช่นนี้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 103 บัญญัติให้กระทำได้ก็แต่โดยมติที่ประชุมใหญ่ แต่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.5 โดยไม่ได้ผ่านมติที่ประชุมใหญ่ของจำเลยที่ 2 ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวและขัดกับข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารจำเลยที่ 2 หมาย จ.4 ข้อ 19.9 อีกด้วย จึงไม่มีผลใช้บังคับขณะที่ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ทั้งสองเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิฟ้องเพิกถอนได้ พิพากษาว่าหนังสือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนเสีย หากจำเลยทั้งสองไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ได้แจ้งข้อเรียกร้องสวนทางต่อจำเลยที่ 1 ตามข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นฝ่ายผู้รับข้อเรียกร้องได้แต่งตั้งผู้แทนลูกจ้างในการเจรจา 7 คน คือ นายวิวัฒน์ ไฝต๊ะ นายสวัสดิ์ มีศิริ นายทวีศักดิ์สีหบุตร นายอำพร สุพกรรม นายชาลี ลอยสูง นายสมัย ขุ่มด้วง และนายประมวยวรรณสัมผัส เมื่อจำเลยที่ 2 แจ้งข้อเรียกร้องสวนทางต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ได้แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาเหมือนกัน ผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาข้อเรียกร้องทั้งสองรายของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้แทนชุดเดียวกัน ส่วนข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 2 พร้อมรายชื่อผู้แทนลูกจ้างในการเจรจานั้น จำเลยที่ 2 ได้กระทำขึ้น โดยได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 13 ผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาของจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจบริบูรณ์ในการเจรจาและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยที่ 1 ได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่อีกนอกจากนี้มติของที่ประชุมใหญ่ของจำเลยที่ 2 ที่อนุมัติให้จำเลยที่ 2 แจ้งข้อเรียกร้องนั้นย่อมมีผลเป็นการอนุมัติให้จำเลยที่ 2 รับข้อเรียกร้องและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากกการแจ้งข้อเรียกร้องนั้นได้ด้วย ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 นั้น พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานก็ได้นำเอาข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายมารวมเจรจาเข้าด้วยกัน ดังปรากฏตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.5 ในข้อความตอนต้นว่า "ตามหนังสือเรียกร้องของบริษัทเนชั่นแนลไทย จำกัด ลงวันที่ 28 กันยายน 2532และหนังสือเรียกร้องของสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทย ลงวันที่ 29 กันยายน 2532 นั้นบริษัท เนชั่นแนลไทย จำกัด และสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทย ได้ทำการเจรจาตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วดังนี้" ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 จึงได้กระทำขึ้นตามข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่ด้วยการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.4 ถือได้ว่าผู้แทนของสหภาพแรงงาน จำเลยที่ 2 ได้กระทำภายในขอบเขตอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 13 แล้ว หาจำเป็นที่จะต้องได้รับอนุมัติเป็นการเฉพาะอีกไม่ เพราะเป็นกิจการส่วนหนึ่งของการแจ้งข้อเรียกร้องที่จำเลยที่ 2ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่ล่วงหน้าแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 จึงมีผลใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะ เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 103(2) และข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 19.9 แต่อย่างใด
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์