ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขายอสังหาริมทรัพย์ทางภาษี: การโอนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างจากการเช่า และการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม/ธุรกิจเฉพาะ
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีข้อตกลงให้โจทก์สร้างอาคารบนที่ดินที่เช่า และให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยทันทีที่ลงมือปลูกสร้างหรือติดตั้ง แล้วโจทก์มีสิทธินำอาคารดังกล่าวไปประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับสิทธิที่จะนำอาคารไปหาประโยชน์ได้จนกว่าจะครบ อายุสัญญาเช่า 23 ปี ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ใช้สิทธินั้นปลูกสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นไว้ในที่ดินที่เช่า บรรดาอาคาร สิ่งปลูกสร้างรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนตรึงอาคาร สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดหาได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่โจทก์เช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 การรถไฟแห่งประเทศไทยย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในบรรดาอาคาร สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนตรึงอาคาร สิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง แต่การที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้กรรมสิทธิ์ในบรรดาอาคาร สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนตรึงอาคาร สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดก็เนื่องมาจากสัญญาเช่าที่โจทก์ตกลงว่าให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทั้งสิ้นทันที ที่ลงมือปลูกสร้างหรือติดตั้ง อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในอาคาร สิ่งปลูกสร้างรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าว กรณีดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ได้จำหน่ายจ่ายโอนอาคารสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวอันเข้าบทนิยามคำว่า "ขาย" ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4) แล้ว และเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ อันเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) ประกอบด้วย พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 มาตรา 3 (5) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นด้วย
การที่เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องโจทก์ต้องอุทธรณ์ การประเมินไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลย หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องโจทก์ชอบที่จะไปยื่นคำร้องขอภาษีมูลค่าเพิ่มคืนจากจำเลย และสำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นกรณีที่โจทก์ต้องชำระตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานของจำเลยประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจึงหาใช่เป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนไม่