โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 820,468 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 817,968 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 820,468 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 817,968 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 สิงหาคม 2562) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงิน 820,468 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 817,968 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์ ยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์ หมายเลขทะเบียน ฆข XXXX กรุงเทพมหานคร ไว้จากบริษัท ฮ. ผู้เอาประกันภัย ระยะเวลาประกันภัยเริ่มวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 สิ้นสุดวันที่ 12 พฤษภาคม 2562 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยและเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์โดยสารสาธารณะ รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 รับประกันภัยความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 บริษัท ฮ. ประสงค์จะนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปเข้าซ่อมที่บริษัท บ. แต่ไม่สามารถนำรถยนต์ไปส่งซ่อมได้ จึงมอบหมายให้บริษัท บ. จัดหาบุคคลไปรับรถยนต์มาเพื่อซ่อม บริษัท บ. จึงว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ไปรับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยที่บริษัท ฮ. ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2561 จำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างไปรับรถและขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากบริษัท ฮ. ไปส่งที่บริษัท บ. ระหว่างทางที่จำเลยที่ 1 ขับรถมาตามถนนบรมราชชนนี จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงปราศจากความระมัดระวังชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ฒง XXXX กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างที่ได้มอบหมายสั่งการให้มารับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากบริษัท ฮ. แล้วเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถยนต์คันอื่น โดยได้ทำบันทึกยอมรับผิดไว้กับพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์ ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลธรรมศาลาสอบสวนแล้วมีความเห็นว่า เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 จึงแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 1 ว่า ขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถผู้อื่นได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ หลังเกิดเหตุรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ต้องเสียค่ายกลากรถไปยังบริษัท บ. เป็นเงิน 2,500 บาท โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าซ่อมรถเป็นค่าอะไหล่และค่าแรงไป 815,468 บาท แล้วใช้สิทธิไล่เบี้ยให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยด้วยความประมาทชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2 ฒง XXXX กรุงเทพมหานคร เป็นการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงส่วนนี้ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชำระไปหรือไม่ เห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับบริษัท ฮ. ผู้เอาประกันภัย ข้อ 6 ระบุเหตุที่โจทก์สละสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยว่า ในกรณีที่มีความเสียหายต่อรถยนต์ เมื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย โจทก์สละสิทธิในการไล่เบี้ยจากผู้ใช้รถยนต์นั้น แต่กรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวได้ระบุข้อยกเว้นที่โจทก์ยังสงวนสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยไว้ด้วยว่า กรณีการใช้โดยบุคคลของสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถ การทำความสะอาดรถ การบำรุงรักษารถ หรือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เมื่อรถยนต์ได้ส่งมอบให้เพื่อรับบริการนั้น โจทก์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากบุคคลเหล่านั้น คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เอาประกันภัยประสงค์จะนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเข้าซ่อมที่บริษัท บ. แต่ไม่สามารถนำรถไปส่งซ่อมเองได้ จึงมอบหมายให้บริษัท บ. จัดหาบุคคลไปรับรถยนต์มาเพื่อซ่อม เมื่อบริษัท บ. เป็นสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถ การที่บริษัท บ. ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ไปรับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยจึงเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเข้ารับบริการซ่อมตามการมอบหมายและความยินยอมของผู้เอาประกันภัย ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกจ้างไปรับรถและขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยไปส่งที่บริษัท บ. จึงเป็นการกระทำในวัตถุประสงค์และการมอบหมายของบริษัท บ. เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งรับดำเนินการในกรณีนี้เป็นตัวแทนของบริษัท บ. ในการรับมอบรถยนต์จากผู้เอาประกันภัยเพื่อนำไปรับบริการซ่อมแซมจากบริษัท บ. ผู้เป็นตัวการ การที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจึงเป็นการกระทำโดยบุคคลของสถานให้บริการเกี่ยวกับการซ่อมแซมรถเมื่อรถยนต์ได้ส่งมอบให้เพื่อรับบริการนั้น ตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 6 ตอนท้าย อันเป็นข้อยกเว้นซึ่งโจทก์ยังสงวนสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์จ่ายไปคืนจากผู้ใช้รถยนต์ที่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยนั้น แม้กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัยไม่ได้ระบุชื่อผู้ขับขี่ ซึ่งหมายความว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยยินยอมให้บุคคลใดเป็นผู้ขับขี่ ย่อมถือว่าบุคคลนั้นเป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยเอง และโจทก์ตกลงสละสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ใช้รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยดังที่จำเลยทั้งสามฎีกาก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้ต้องด้วยข้อยกเว้นของการที่โจทก์ตกลงสละสิทธิไล่เบี้ยซึ่งมีต่อผู้ใช้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยดังวินิจฉัยข้างต้น โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยในความเสียหายของรถยนต์อันเป็นผลจากเหตุละเมิดที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยความรับผิดของจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง มาตรา 420 และมาตรา 425 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสามรับผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาในเรื่องค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใดนั้น ในส่วนของค่ายกลากรถ ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์เป็นเงิน 2,500 บาท จำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์ว่าสูงเกินไป จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อต่อไปว่า ค่าซ่อมรถที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมาเหมาะสมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายสุรพล ผู้จัดการฝ่ายซ่อมสีและตัวถังของบริษัท บ. เบิกความว่า รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายด้านหน้าขวา จึงได้ทำใบเสนอราคาค่าอะไหล่และค่าแรงเพื่อส่งให้โจทก์คุมราคาค่าอะไหล่และค่าแรงแล้วเป็นเงิน 815,468.94 บาท เมื่อซ่อมรถเสร็จ โจทก์ชำระเงินค่าซ่อมรถให้แก่บริษัท บ. และพยานเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายด้านหน้าขวาซึ่งเป็นที่ตั้งของเทอร์โบ และต้องใช้วิธีซ่อมแซมทั้งชุดตามรายการที่ 89 ในใบเสนอราคา ส่วนอะไหล่รายการที่ 63 เป็นการเปลี่ยนไฟหน้าขวาเพียงด้านเดียว อะไหล่ที่มีการถอดเปลี่ยนได้คืนให้แก่โจทก์ เมื่อพิจารณารายการอะไหล่ที่ระบุในใบเสนอราคาดังกล่าวข้างต้นปรากฏว่าสอดคล้องตรงกับความเสียหายของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยที่ได้รับความเสียหายทางด้านหน้าขวา ทั้งโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยย่อมต้องตรวจสอบควบคุมราคาค่าอะไหล่และค่าแรงมิให้ต้องชดใช้ค่าเสียหายเกินความเสียหายที่แท้จริง จำเลยทั้งสามก็มิได้ถามค้านหรือนำสืบให้ได้ความว่า ชิ้นส่วนที่เสียหายดังกล่าวสามารถซ่อมแซมให้มีสภาพใช้งานได้ดีดังเดิมโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ทั้งชุด และไม่ปรากฏว่าชิ้นส่วนซากอะไหล่เดิมที่เสียหายยังคงใช้ประโยชน์และนำไปขายได้ จึงฟังได้ว่ารายการค่าอะไหล่และค่าแรงที่โจทก์จ่ายไปเป็นจำนวนที่เหมาะสมและถูกต้องตามรายการที่เสียหายจริงแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าซ่อมรถตามจำนวนเงินที่โจทก์ชำระไปนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง เนื่องจากได้มีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว บัญญัติให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ กรณีจึงต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 สิงหาคม 2562) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ