โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามแผนที่พิพาทเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 เนื้อที่ 86 ตารางวา ห้ามจำเลยและบริวารรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท
ชั้นตรวจคำฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า ให้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทบริเวณพื้นที่สีเหลืองตามแผนที่พิพาทเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 เนื้อที่ 86 ตารางวา ห้ามจำเลยและบริวารรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เดิมจำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในคดีก่อนว่า บิดาของจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 162 ต่อมามีการขุดคลองชลประทานทำให้ที่ดินแบ่งออกเป็นสองส่วน บิดาจำเลยจดทะเบียนให้ที่ดินและส่งมอบการครอบครองที่ดินเนื้อที่ 86 ตารางวา แก่จำเลย ส่วนโจทก์คดีนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 25034 ได้นำรังวัดสอบเขตที่ดินเข้ามาในที่ดินของจำเลย ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของจำเลย (โจทก์คดีนี้) เนื้อที่ 86 ตารางวา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 25034 เฉพาะส่วนที่ทับที่โจทก์ (จำเลยคดีนี้) มีสิทธิครอบครอง เนื้อที่ประมาณ 86 ตารางวา ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1046/2558 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวจำเลย (โจทก์คดีนี้) ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 คดีถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ในคดีก่อนปรากฏที่ดินพิพาทเป็นที่ดินส่วนที่จำเลยยังมิได้นำไปขอออกโฉนดที่ดินจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง เมื่อคดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์ว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์นำรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์เข้ามาในที่ดินของจำเลย ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ส่วนที่ทับที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครอง และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกอุทธรณ์ ผลของคดีก่อนถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ส่วนที่ทับที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครอง จึงเป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (1) บัญญัติว่า "ในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้" แม้คดีก่อนศาลมิได้มีคำสั่งให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท แต่ก็เป็นกรณีที่ศาลพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ทั้งโจทก์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยผู้มีสิทธิครอบครอง และตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลย้อนหลังไปใช้บังคับกระบวนการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาก่อนที่กฎหมายใช้บังคับตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 348 วรรคสอง (ที่เพิ่มเติมใหม่) บัญญัติว่า "การบังคับคดีในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบอสังหาริมทรัพย์เฉพาะสิ่ง ถ้ามีเหตุขัดขวางหรือเหตุขัดข้องในการส่งคืนหรือส่งมอบอสังหาริมทรัพย์นั้นแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ให้นำบทบัญญัติในหมวด 4 การบังคับคดีในกรณีที่ให้ขับไล่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม" ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยบังคับคดีโจทก์ในคดีก่อนได้ และการที่โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าประมาณสิ้นเดือนเมษายน 2559 จำเลยแจ้งให้โจทก์รื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินพิพาท เพื่อเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน แต่โจทก์แจ้งจำเลยว่าจะไม่รื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามออกไป ที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ยอมรับว่าจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่โจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีก่อน ซึ่งมีผลผูกพันคู่ความในกระบวนการพิจารณาของศาลที่พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์ก็ยังคงไม่มีสิทธิในที่ดินและไม่อาจกล่าวอ้างสิทธิขึ้นใหม่เพื่อโต้แย้งจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาเหตุผลอื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ