โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 212,295.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 206,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 202,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ และให้คืนค่าขึ้นศาลในอนาคต 100 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์จากนายตุลาคม มีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2562 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2563 โดยคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์เนื่องจากการชนกับยานพาหนะทางบก 200,000 บาท ต่อครั้ง เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 เวลา 19.15 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะขณะเมาสุราไปตามถนนสายบ้านบ่อล้อ-ลำทับ เมื่อถึงจุดเกิดเหตุบริเวณทางแยกจบกับถนนสายบ่อล้อ-ลำทับ หมู่ที่ 1 ตำบลบางขัน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวขวาเปลี่ยนช่องเดินรถผ่านทางแยกทันทีเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่นายตุลาคมขับมุ่งหน้าไปทางบ้านเขาขาว ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2562 พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดทุ่งสง โดยนายตุลาคมยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนแพ่ง จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ วันที่ 26 มีนาคม 2563 ศาลจังหวัดทุ่งสงพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และปรับ 32,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายตุลาคม 400,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวให้แก่นายตุลาคมเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 เป็นเงิน 250,000 บาท วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นเงิน 100,000 บาท และวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เป็นเงิน 50,000 บาท คดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ส่วนโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายตุลาคม 200,000 บาท เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 และจ่ายค่าลากรถอีก 6,400 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและฟ้องซ้ำกับคดีส่วนแพ่งตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.951/2562 ของศาลจังหวัดทุ่งสงหรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.951/2562 ของศาลจังหวัดทุ่งสง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถโดยประมาทหรือหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ซึ่งนายตุลาคมผู้เอาประกันภัยยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายในการซ่อมรถยนต์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 โจทก์คดีนี้มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีก ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.951/2565 ของศาลจังหวัดทุ่งสง นายตุลาคมผู้เอาประกันภัยยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าซ่อมรถยนต์คันเกิดเหตุโดยอ้างส่งหลักฐานการซ่อมเป็นรายการราคาของอะไหล่แต่ละชิ้นและภาพถ่ายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งศาลจังหวัดทุ่งสงพิจารณาหลักฐานดังกล่าวแล้วเห็นว่า ราคารถยนต์ย่อมเสื่อมสภาพลงเพราะการใช้งาน การคิดคำนวณราคาค่าซ่อมไม่อาจคิดคำนวณจากราคาค่าอะไหล่ทุกชิ้นเป็นเกณฑ์ในการเรียกราคา ทั้งพิจารณาจากสภาพรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย หากทำการซ่อมก็ไม่จำต้องเปลี่ยนอะไหล่ทั้งหมด เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้ 400,000 บาท อันเป็นการวินิจฉัยราคาค่าซ่อมรถยนต์จากหลักฐานรายการการซ่อมและสภาพความเสียหายที่ปรากฏจากภาพถ่ายรถยนต์คันเกิดเหตุ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จากการตรวจสอบสภาพความเสียหายและการประเมินราคาค่าซ่อมรถยนต์คันเกิดเหตุของโจทก์ปรากฏว่า รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย 254,463 บาท ซึ่งสูงเกินกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดไว้ 200,000 บาท โจทก์จึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท ตามความผูกพันในสัญญาประกันภัยข้อ 2.1 การชดใช้ความเสียหายต่อรถยนต์ในกรณีรถยนต์เสียหายสิ้นเชิง ค่าเสียหายที่นายตุลาคมได้รับจากจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง 400,000 บาท และที่นายตุลาคมได้รับจากโจทก์ 200,000 บาท จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์เช่นเดียวกัน การที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายตุลาคมตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ก่อนวันที่ศาลจังหวัดทุ่งสงมีคำพิพากษาในคดีอาญาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์แก่นายตุลาคมเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 สิทธิของโจทก์ในการเข้ารับช่วงสิทธิของนายตุลาคมเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยย่อมเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคหนึ่ง และมาตรา 880 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสงไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 รู้ว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้แก่นายตุลาคมและเข้ารับช่วงสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จากนายตุลาคมก่อนวันที่ศาลจังหวัดทุ่งสงมีคำพิพากษาในคดีอาญา ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ให้แก่นายตุลาคมเป็นการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดทุ่งสงที่กำหนดค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายตามคำร้องขอให้บังคับผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนแพ่ง ตามพฤติการณ์จึงเป็นการชำระหนี้ซึ่งได้ทำให้แก่ผู้ครองตามปรากฏแห่งสิทธิในมูลหนี้ละเมิดโดยสุจริต การชำระหนี้ดังกล่าวย่อมสมบูรณ์ตามมาตรา 316 แม้โจทก์เข้ารับช่วงสิทธิจากนายตุลาคมก่อนจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าว แต่สิทธิของโจทก์มีเท่ากับสิทธิของนายตุลาคม ผู้เอาประกันภัยที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง และการชำระหนี้ในมูลละเมิดสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของนายตุลาคมซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำลงนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว มูลหนี้ส่วนนี้จึงระงับไป โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในหนี้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ 200,000 บาท ได้ แต่สำหรับค่ายกลากรถที่โจทก์ฟ้องเรียกมา 6,400 บาท นั้น เป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์ซึ่งจำเลยที่ 1 ชดใช้ให้แก่นายตุลาคมไปตามคำพิพากษาคดีอาญาของศาลจังหวัดทุ่งสง เมื่อโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่นายตุลาคมไปและไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่นายตุลาคมแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของนายตุลาคมเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ได้ ทางพิจารณาโจทก์นำสืบค่าเสียหายส่วนนี้ว่า โจทก์ชำระค่ายกลากรถที่เอาประกันภัยจากที่เกิดเหตุไปยังสถานีตำรวจภูธรบางชันให้แก่นายตุลาคมซึ่งสำรองจ่ายค่ายกลากรถไปก่อน 4,000 บาท และชำระค่ายกลากรถให้แก่ผู้ยกลากรถจากอำเภอบางชันเข้าอู่พระเวียงอีก 2,400 บาท รวมเป็นเงิน 6,400 บาท จำเลยที่ 1 ไม่นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นว่า ค่ายกลากรถที่โจทก์เรียกมาเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ แต่ที่โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยของค่ายกลากรถในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงกำหนดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระค่าเสียหายในเหตุละเมิดครบถ้วนเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์สำหรับค่าเสียหายทุกจำนวนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยระบุว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ และในขณะเดียวกันเป็นนายจ้างหรือตัวการที่ได้จ้างวาน ใช้ หรือมอบหมายหรือเชิดให้จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้าง หรือทางการอันได้รับมอบหมาย หรือที่ตนมีผลประโยชน์ร่วมกันในขณะเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันหรือแทนกันรับผิดต่อโจทก์ แต่ทางนำสืบโจทก์ได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 นั่งโดยสารรถยนต์กระบะไปกับจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุเท่านั้น แต่การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถยนต์กระบะตามหลักฐานทางทะเบียนและนั่งโดยสารไปกับจำเลยที่ 1 เพียงเท่านี้มิได้แสดงว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือในกิจการที่ได้รับมอบหมายให้ทำแทนแต่อย่างใด เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนับสนุนว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการซึ่งได้ใช้ จ้างวาน มอบหมายหรือเชิดให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะดังกล่าวหรือมีผลประโยชน์ใดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ในการใช้รถยนต์กระบะ พยานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 6,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8