ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "คดีฟังได้ตามฟ้องและคำให้การว่า โจทก์เลิกจ้างนายทรงศักดิ์ เต็งรัตนประเสริฐ กับพวกรวม 5 คนซึ่งทำหน้าที่เป็นครูโรงเรียนราษฎร์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย บุคคลเหล่านั้นยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และไม่จ่ายค่าชดเชยให้เป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานพิจารณาออกคำสั่งโดยการสอบถามข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เลิกจ้างบุคคลเหล่านั้นโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยให้จึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 77 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 มีคำเตือนที่ 1/2520 ลงวันที่ 21 เมษายน 2520 เตือนให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเหล่านั้นการพิจารณาคำร้องนั้นมิได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มีปัญหาสู่ศาลฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2 ว่าคำเตือนของจำเลยที่ 2 ชอบหรือไม่
โจทก์ฎีกาว่าคำเตือนของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบ เพราะที่ถูกนั้นโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และจำเลยที่ 2 พิจารณาคำร้องโดยมิให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และมิได้นำพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์และระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัตินั้นตลอดจนระเบียบคุรุสภามาประกอบการพิจารณา พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่นายทรงศักดิ์เต็งรัตนประเสริฐ กับพวกยื่นคำร้องว่าโจทก์เลิกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชยเป็นการไม่ชอบนั้น มิใช่เป็นกรณีพิพาทกันในเรื่องกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อความเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แต่เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ดังนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ต้องดำเนินการพิจารณาคำร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และไม่มีข้อบังคับใดให้ต้องนำพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัตินั้น และระเบียบคุรุสภามาประกอบการพิจารณา การพิจารณาคำร้องจึงเป็นการชอบ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ถูกโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจออกคำเตือนให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยได้ตามความในข้อ 77 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์"
พิพากษายืน