โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 7,982,550.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,470,365.64 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 198651 ถึง 198654 ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน7,982,550.78 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีของต้นเงิน 6,470,365.64 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 12ธันวาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 198651 ถึง 198654ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2538 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำสัญญากู้เงินโจทก์ 6,500,000บาท ยินยอมให้ดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเรียกเก็บจากผู้กู้ได้ โดยในขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 15.5 ต่อปี ส่วนอัตราผู้กู้ผิดนัดหรือผิดเงื่อนไขเท่ากับร้อยละ 18.5 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนให้โจทก์เป็นรายเดือน อย่างน้อยเดือนละ 91,000 บาท ภายในวันที่ 16 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกในเดือนมิถุนายน 2538 กำหนดชำระคืนโจทก์ให้ครบภายใน 15 ปี ในวันเดียวกันนั้น จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินรวม 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัด โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองนับแต่วันทำสัญญากู้เงินโดยเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยรวม 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายโจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดหรือผิดเงื่อนไขในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องวันที่ 12 ธันวาคม 2539 จำเลยทั้งสองคงค้างชำระต้นเงินจำนวน 6,470,365.64 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 1,512,185.14 บาท คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญากู้เงินได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี และจำเลยทั้งสองไม่เคยทราบหรือได้รับหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ข้อนี้ปรากฏข้อความตามสัญญากู้เงิน ข้อ 2ระบุว่า เว้นแต่เมื่อผู้กู้ปฏิบัติผิดนัดผิดเงื่อนไข ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ผู้ให้กู้ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นแบบผิดนัดผิดเงื่อนไข จำเลยทั้งสองได้ผิดนัดผิดเงื่อนไขชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้มีประกาศที่ 9/2538 ข้อ 6.4 กำหนดให้ลูกค้าทั่วไป ที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขต้องเสียดอกเบี้ยอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 18.5 ต่อปี ประกอบกับตามสัญญากู้เงินระบุว่า ถ้าจำเลยทั้งสองผิดนัดผิดเงื่อนไขยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามที่โจทก์ประกาศกำหนด และตามสัญญากู้เงินก็มิได้มีข้อตกลงให้โจทก์ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองทราบก่อน ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดผิดเงื่อนไขในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีตามข้อสัญญาดังกล่าวได้โดยมิจำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดผิดเงื่อนไขในอัตราดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์เพราะโจทก์มิได้ส่งหนังสือดังกล่าวไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 การบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายในเรื่องการบอกกล่าวบังคับจำนอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 4 แปลงและได้จำนองที่ดิน 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 2 กู้เงินโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้จำนองที่ดินกับโจทก์ ดังนั้น การบอกกล่าวบังคับจำนองก่อนฟ้องจึงเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น และก็ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยชอบแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 โจทก์จึงหาจำต้องบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 1 ก่อนไม่ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์ก็ไม่มีผลอย่างใด และเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ผิดนัดผิดเงื่อนไข ตามสัญญากู้เงิน ข้อ 6 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่ผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดเงื่อนไขดังกล่าว ผู้กู้ยอมให้ถือว่าเป็นการผิดนัดในจำนวนหนี้ทั้งหมดและให้ถือว่าบรรดาหนี้สินทั้งหลายตามสัญญานี้เป็นอันถึงกำหนดชำระทันที ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ผิดนัดผิดเงื่อนไขแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่จำต้องทวงถามก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน