โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสกนธ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (1) (2) (5) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 3 เดือน รวมสองกระทงเป็นจำคุก 6 เดือน และลงโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 10,000 บาท รวมสองกระทงเป็นปรับ 20,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จําเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการกำหนดโทษและคุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขในการเยียวยาโจทก์ร่วมโดยให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินตามเช็คที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ร่วมภายในระยะเวลารอการกำหนดโทษ โดยให้ชำระทุก 3 เดือน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นต้นไป โดยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นหรือโดยวิธีการที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่ถูก มาตรา 56 วรรคสอง) (10) ให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน เพื่อสอดส่องตักเตือนให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้างต้นอย่างเคร่งครัด หากผิดเงื่อนไขดังกล่าวให้พนักงานคุมประพฤติรายงานศาลชั้นต้นเพื่อกำหนดโทษแก่จำเลยที่ 2 ต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดเงื่อนไขในการเยียวยาโจทก์ร่วมโดยให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินตามเช็คที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ร่วมภายในระยะเวลารอการกำหนดโทษ โดยให้ชำระทุก 3 เดือน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นต้นไป โดยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นหรือโดยวิธีการที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคสอง (10) ให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน เพื่อสอดส่องตักเตือนให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้างต้นอย่างเคร่งครัด หากผิดเงื่อนไขดังกล่าวให้พนักงานคุมประพฤติรายงานศาลชั้นต้นเพื่อกำหนดโทษแก่จำเลยที่ 2 ต่อไปนั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดในการเยียวยาโจทก์ร่วมโดยให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ร่วมนั้น ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งมาโดยตลอดว่าได้มีการชำระหนี้ต้นเงินบางส่วนให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วมหลายครั้ง แม้ศาลล่างทั้งสองจะฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ต้นเงินตามสัญญาเงินกู้ไปแล้วบางส่วน แต่จำนวนยอดหนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ร่วมมีเพียงใดนั้น โจทก์ร่วมจะต้องไปฟ้องร้องบังคับกันเป็นคดีแพ่งต่างหาก ซึ่งในการพิจารณาคดีแพ่งดังกล่าวศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีนี้อันเป็นคดีอาญา เนื่องจากการฟ้องร้องคดีแพ่งดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องโดยไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 แต่อย่างใด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า คดีแพ่งดังกล่าวมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 46 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มิได้ระบุว่าจำนวนยอดหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับที่จำเลยทั้งสองค้างชำระอยู่เป็นจำนวนเงินเท่าใด จึงเป็นการยากที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติในการเยียวยาโจทก์ร่วมมานั้น จึงเป็นการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติไม่เป็นไปตามควรแก่กรณีแห่งคดี เป็นการไม่ชอบ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างอื่น ๆ ในฎีกาของจำเลยทั้งสองอีกเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่กำหนดเงื่อนไขในการเยียวยาโจทก์ร่วมตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1