โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3, 83, 91, 264, 268, 341, 342, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 7, 9, 14 (1) ประกอบวรรคสอง ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินที่ประทุษร้ายยังไม่ได้คืน 3,179,930 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 3
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264, 342 (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 7, 9, 14 (1) วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 3,179,930 บาท ให้แก่ผู้เสียหายที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก (เดิม) , 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 342 (1) (เดิม) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 7, 9, 14 (1) วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 9 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกการกระทำผิดของจำเลยกับพวกมาเป็นข้อ ๆ โดยมีคำขอท้ายฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาด้วย และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีจากข้อเท็จจริงตามฟ้องแล้วปรากฏว่าการที่จำเลยได้เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในบัญชีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมลของผู้เสียหายที่ 1 โดยนางสาวลินจง บัญชีชื่อ kxxx@royaluniversallace.com ซึ่งมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะมิได้มีไว้สำหรับจำเลยกับพวก ทำให้จำเลยกับพวกทราบข้อมูลการเจรจาติดต่อซื้อขายสินค้าผ้าระหว่างบริษัท ร. ผู้เสียหายที่ 1 กับนายลิทเนอร์ ผู้เสียหายที่ 3 แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จากบัญชีอีเมลที่มีชื่อคล้ายกับบัญชีอีเมลของผู้เสียหายที่ 1 ชื่อ kxxx @royalunversallance.com (ไม่มีอักษรตัว i ระหว่างตัว n และตัว v) ถึงบัญชีอีเมลชื่อ lxxx@hotmail.com ของผู้เสียหายที่ 3 โดยแอบอ้างแสดงตนเป็นนางสาวลินจงต่อผู้เสียหายที่ 3 เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 3 หลงเชื่อว่าข้อความในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวส่งมาจากบัญชีอีเมลของผู้เสียหายที่ 1 โดยนางสาวลินจงเพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายที่ 3 ชำระเงินค่าสินค้าที่ตกลงสั่งซื้อจากผู้เสียหายที่ 1 ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 โดยให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ก. ชื่อบัญชี บริษัท จ. เลขที่บัญชี 760-2-63XXX-X ซึ่งเป็นความเท็จ แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเอกสารของผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 2 ฉบับ ด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลในส่วนชื่อบัญชีธนาคารของผู้เสียหายที่ 1 ที่จะรับโอนเงินชำระค่าสินค้าจากผู้เสียหายที่ 3 ดังกล่าวในไฟล์เอกสารของผู้เสียหายที่ 1 ที่แท้จริงนั้น และผู้เสียหายที่ 3 ได้โอนเงินชำระค่าสินค้าครึ่งหนึ่งของราคาสินค้าเป็นเงิน 3,179,930 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ก. เลขที่บัญชี 760-2-63XXX-X ชื่อบัญชี บริษัท จ. ซึ่งมีจำเลยเป็นกรรมการ มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทและเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าว และต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2557 เงินจำนวนดังกล่าวได้โอนเข้ามาในบัญชีธนาคาร ก. ของ บริษัท จ. พวกของจำเลย ทำให้จำเลยกับพวกได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้เสียหายที่ 3 ผู้ถูกหลอกลวง เพื่อประโยชน์ของจำเลยกับพวก ส่อแสดงว่าพฤติกรรมการกระทำของจำเลยกับพวกมีเจตนาประการเดียวคือมุ่งประสงค์ที่จะหลอกลวงเพื่อที่จะได้เงินของผู้เสียหายที่ 3 ที่โอนเงินชำระค่าสินค้าครึ่งหนึ่งของราคาสินค้าที่ตกลงสั่งซื้อจากผู้เสียหายที่ 1 เป็นเงิน 3,179,930 บาท นั้นเอง ความผิดฐานร่วมกันเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ฐานร่วมกันแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ฐานโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นฐานร่วมกันปลอมเอกสารและฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม จึงเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หาใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันตามมาตรา 91 ตามที่โจทก์อ้างในฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยสถานหนักหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยมิชอบในศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งและมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน