ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง: เบี้ยเลี้ยงรายวันถือเป็นค่าจ้าง คำนวณจากจำนวนวันทำงาน
++ เรื่อง คดีแรงงาน ++
++
++ ทดสอบการทำงานในระบบ CW เพื่อค้นหาข้อมูลทาง online ++
++ ย่อข้อกฎหมายอย่างไม่เป็นทางการ
++ ขอชุดตรวจได้ที่งานย่อข้อกฎหมายระบบ CW โถงกลางชั้น 3 ++
++
++ ที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ว่า จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสิบเอ็ดเป็นเงินเดือนกับจ่ายเป็นเบี้ยเลี้ยงเฉพาะวันที่มาทำงาน มิได้มีเจตนาที่จะกำหนดค่าจ้างเป็นอัตราที่แน่นอนเป็นรายวัน อัตราค่าจ้างรายวันจะเปลี่ยนไปตามผลของการที่โจทก์แต่ละคนมาทำงาน ค่าจ้างส่วนที่เป็นเบี้ยเลี้ยงจึงเป็นการคำนวณค่าจ้างตามผลงานเป็นหน่วย โจทก์แต่ละคนจึงได้รับค่าชดเชยส่วนที่คิดจากเบี้ยเลี้ยงนี้ตามค่าจ้างของการทำงานที่ได้รับจริง 90 วัน หรือ 180 วันตามอายุงานของโจทก์แต่ละคนมิใช่คำนวณแบบเป็นรายวัน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แต่ละคน โดยคำนวณอัตราค่าจ้างที่โจทก์ดังกล่าวแต่ละคนได้รับ คือค่าจ้างที่ตกลงกันเดือนละ 3,000 บาทเว้นแต่โจทก์ที่ 7 ได้รับเดือนละ 3,500 บาท บวกด้วยเบี้ยเลี้ยงวันละ200 บาท โดยมิได้คำนึงว่าโจทก์แต่ละคนจะมาทำงานหรือไม่ ซึ่งโจทก์ทั้งสิบเอ็ดดังกล่าวมีวันหยุดสัปดาห์ละหนึ่งวัน เดือนหนึ่งจะมาทำงานอย่างมากไม่เกิน 26 วัน เงินส่วนเบี้ยเลี้ยงที่จะได้รับไม่เกินเดือนละ5,200 บาท ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานมีผลให้โจทก์แต่ละคนได้รับค่าชดเชยเกินกว่าที่จะมีสิทธิได้รับ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
++
++ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยตกลงจ่ายเงินเดือนให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5โจทก์ที่ 8 ถึงที่ 12 เดือนละ 3,000 บาท และโจทก์ที่ 7 เดือนละ3,500 บาท กับเบี้ยเลี้ยงเฉพาะวันที่มาทำงานอีกวันละ 200 บาท นั้น การจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้โจทก์แต่ละคนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเป็นรายวัน มิใช่เป็นการจ่ายค่าจ้างโดยคำนวณตามผลงานเป็นหน่วยดังที่จำเลยอ้าง ซึ่งการคำนวณจำนวนค่าชดเชยนั้นต้องคิดจากค่าจ้างรายวัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงวันหยุดที่โจทก์แต่ละคนไม่มาทำงานในแต่ละเดือนดังที่จำเลยอ้าง
++ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์แต่ละคนได้รับเบี้ยเลี้ยงอัตราสุดท้ายขณะเลิกจ้างวันละ 200 บาท โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และโจทก์ที่ 7ถึงที่ 11 ทำงานกับจำเลยติดต่อมาครบสามปีแต่ไม่ครบหกปี จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ดังกล่าวไม่น้อยกว่าค่าจ้าง (เบี้ยเลี้ยง) อัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน คิดเป็นค่าชดเชยในส่วนนี้คนละ 36,000 บาท ส่วนโจทก์ที่ 12 ทำงานกับจำเลยมาครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปี จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 12 ไม่น้อยกว่าค่าจ้าง (เบี้ยเลี้ยง) อัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน คิดเป็นค่าชดเชยที่จำเลยต้องจ่ายแก่โจทก์ที่ 12 ในส่วนนี้จำนวน 18,000 บาท จำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่คิดจากเบี้ยเลี้ยงที่เป็นค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และโจทก์ที่ 7 ถึงที่ 11 ไม่ครบเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคนละหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และโจทก์ที่ 12 ไม่ครบเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ยังจ่ายไม่ครบให้แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว