โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 91, 276, 278, 364
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า
จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 276
วรรคหนึ่ง (เดิม),
278 (เดิม), 364 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ให้ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเรา
ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 8 ปี รวม 2
กระทง จำคุก 16 ปี
ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา
มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
จำเลยยื่นฎีกา 2 ฉบับ
กล่าวคือ ฉบับลงวันที่ 19
เมษายน 2562
และฉบับลงวันที่
2 พฤษภาคม 2562 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเบิกตัวจำเลยมาสอบถาม จำเลยแถลงว่า
จำเลยจัดทำฎีกาฉบับลงวันที่ 19
เมษายน 2562
ก่อนฎีกาฉบับลงวันที่ 2
พฤษภาคม 2562
โดยเนื้อความในฎีกาฉบับลงวันที่
19 เมษายน 2562
จำเลยยังคงให้การปฏิเสธและขอให้ศาลฎีกาลดโทษให้แต่ภายหลังจำเลยสำนึกผิดจึงจัดทำฎีกาฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2562
โดยขอให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2562 เป็นฎีกาของจำเลย
และรับฎีกาฉบับลงวันที่ 2
พฤษภาคม 2562
เป็นคำแถลงการณ์ประกอบฎีกาเนื่องจากจำเลยยื่นเกินกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาที่ขอขยายไว้ เห็นว่า
ตามฎีกาของจำเลยฉบับลงวันที่ 19
เมษายน 2562
จำเลยอ้างว่าเหตุคดีนี้เกิดขึ้นโดยผู้เสียหายที่
2 ยินยอม
จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ขอให้ยกฟ้องเพียงประการเดียว
มิได้ขอให้ลดโทษให้ตามที่จำเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นด้วย เมื่อต่อมาจำเลยยื่นฎีกาฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2562
โดยศาลชั้นต้นรับเป็นคำแถลงการณ์ แต่ตามเนื้อหาเป็นการขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา
ซึ่งแม้จำเลยไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 163 วรรคสอง
แต่อย่างไรก็ตามการที่จำเลยยื่นคำแถลงการณ์ดังกล่าวต่อศาลฎีกาโดยขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาเช่นนี้
ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง
จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยอีกต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค
4 หรือไม่
อย่างไรก็ดี เมื่อจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
ในชั้นพิจารณาของศาลฎีกา จึงเห็นสมควรลดโทษให้แก่จำเลยมากกว่าที่ศาลล่างทั้งสองลดโทษให้
อนึ่ง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ใช้บังคับ โดยมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 276 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน
แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา
พิพากษาแก้เป็นว่า
ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 5 ปี
4 เดือน รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 10 ปี
8 เดือน
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค
4