โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง, 64 ปรับ 500 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 250 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 13 ปี และปรับ 750,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี 8 เดือน และปรับ 500,000 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 8 ปี 8 เดือน และปรับ 500,250 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) กรณีไม่ชำระค่าปรับให้กักขังได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย นายกรุงศรี นายนิกรณ์ และนายราเชนทร์ ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 727 เม็ด นํ้าหนัก 67.673 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 11.079 กรัม และโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง เป็นของกลาง ชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลย นายกรุงศรี นายนิกรณ์ และนายราเชนทร์ว่า ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยให้การปฏิเสธ ส่วนนายกรุงศรี นายนิกรณ์ และนายราเชนทร์ให้การรับสารภาพ ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น นายกรุงศรี นายนิกรณ์ และนายราเชนทร์ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษบุคคลทั้งสามและมีคำสั่งริบของกลางแล้ว ส่วนจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ สำหรับความผิดฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับ 250 บาท คู่ความไม่อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามเป็นประจักษ์พยานและเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติราชการไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องได้รับโทษ เชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง พยานทั้งสามเบิกความสอดคล้องต้องกันได้ความว่า เมื่อพยานทั้งสามกับพวกเดินทางไปถึงบริเวณที่เกิดเหตุพบเห็นนายกรุงศรีกับจำเลยกำลังค้นหาสิ่งของตรงตามที่ได้รับแจ้งจากสายลับ และในขณะที่พยานทั้งสามเข้าควบคุมตัวนายกรุงศรีกับจำเลย ปรากฏว่ามีเสียงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายกรุงศรีดังขึ้น พยานทั้งสามให้นายกรุงศรีเปิดลำโพงฟังได้ยินเสียงชายไม่ทราบชื่อแจ้งให้นายกรุงศรีทราบว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่บริเวณโคนต้นไม้ห่างจากสะพานห้วยบังอี่ประมาณ 20 เมตร พยานทั้งสามจึงพานายกรุงศรีกับจำเลยไปตรวจค้นบริเวณดังกล่าวพบเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเวลาต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน และยังสอดคล้องกับบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของนายกรุงศรีที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งแม้คำให้การของนายกรุงศรีจะเป็นเพียงพยานบอกเล่าและพยานซัดทอด แต่นายกรุงศรีได้ให้การในทันทีหลังถูกจับกุมโดยยังไม่มีโอกาสคิดบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ทั้งยังเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยมีรายละเอียดของการกระทำความผิด มิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลให้ตนเองพ้นผิด จึงสามารถนำมารับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ พฤติการณ์ที่นายกรุงศรีกับจำเลยเดินทางร่วมกันไปค้นหาเมทแอมเฟตามีนบริเวณที่เกิดเหตุ บ่งชี้ได้ว่านายกรุงศรีกับจำเลยมีเจตนาที่จะกระทำความผิดทางอาญามาตั้งแต่แรกและถือว่านายกรุงศรีกับจำเลยลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การที่ชายไม่ทราบชื่อนำเมทแอมเฟตามีนไปซุกซ่อนไว้บริเวณโคนต้นไม้แล้วโทรศัพท์แจ้งให้นายกรุงศรีกับจำเลยทราบ จากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจพานายกรุงศรีกับจำเลยไปตรวจค้นบริเวณดังกล่าวจึงพบเมทแอมเฟตามีน จำเลยกับพวกจึงยังไม่ได้เข้าไปยึดถือครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจมาพบเห็นและจับกุมได้เสียก่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่, 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 ฐานร่วมกันพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 8 ปี 8 เดือน และปรับ 500,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม จำคุก 5 ปี 4 เดือน และปรับ 333,333.33 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นแล้ว เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน และปรับ 333,583.33 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์