โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๒๖ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกโดยไม่มีความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทั้งหกฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์แล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ในวันนัดพิจารณา โจทก์ทั้งหกและผู้รับมอบอำนาจจำเลยมาศาล ศาลจดคำให้การด้วยวาจาของจำเลยไว้ แล้วกำหนดประเด็นให้โจทก์นำสืบก่อนและเลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๒๖ เวลา ๙ นาฬิกา และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๒๖ เวลา ๙ นาฬิกา โจทก์และผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยลงชื่อไว้ท้ายรายงานกระบวนพิจารณาแล้ว ครั้นวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ทั้งหกมาศาล ส่วนผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๗ วรรคสอง ซึ่งมาตรา ๒๐๒ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาแล้วพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว ไม่ใช่กรณีจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลในวันนัดพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๗ แล้วไม่มาศาล ฉะนั้นการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน โดยไม่เลื่อนไปสืบพยานจำเลยจึงชอบแล้ว
พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย