ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาล: ฟ้องแก้ไขชื่อบิดามารดาในทะเบียนราษฎร ต้องยื่นร้องต่อประธานศาลฎีกา หากล่วงเลยระยะเวลา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยมิใช่บุตรของ จ. และ ส. ซึ่งเป็นบิดามารดาของโจทก์ โดยโจทก์ได้ร้องขอให้นายอำเภอคลองหลวงแก้ไขรายการช่องบิดามารดาในทะเบียนราษฎรของจำเลย คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จึงไม่อาจแก้ไขรายการช่องบิดามารดาในทะเบียนราษฎรของจำเลยได้ ทำให้โจทก์ในฐานะบุตรของ จ. และ ส. เสียสิทธิในการได้รับสิทธิทำกินในที่ดิน ส.ป.ก. และสิทธิอื่นอีกหลายประการ จึงขอให้บังคับจำเลยแจ้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิกถอนชื่อ จ. และ ส. ในช่องบิดามารดาออกจากรายการทะเบียนราษฎรของจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่พึงจะได้รับตามกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อขอให้บังคับจำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิกถอนชื่อ จ. และ ส. ในช่องบิดามารดาออกจากรายการทะเบียนราษฎรของจำเลยได้ แล้วพิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดี จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้าน ปัญหาดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 ก่อนแก้ไขเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่โจทก์จำเลยพิพาทกันเป็นคดีนี้บัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาว่า คดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด และวรรคสองบัญญัติว่า การขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง คู่ความจะต้องร้องขอก่อนวันสืบพยานแต่ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรให้กระทำได้ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น การที่จำเลยยกปัญหาเรื่องฟ้องผิดศาลขึ้นในชั้นฎีกาจึงเป็นการล่วงเลยระยะเวลาตามกฎหมาย ไม่อาจกระทำได้ ทั้งจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นข้อพิพาท จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จะยกขึ้นอ้างได้แม้จะมิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย