โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๖๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง จำคุก ๕ ปี คำรับสารภาพของจำเลยชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.อ. มาตรา ๘๐ จำคุก ๓ ปี ๔ เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๒ เดือน ๒๐ วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและอ้างว่ายึดเมทแอมเฟตามีนได้จำนวน ๗ เม็ด ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอก ส. กับสิบตำรวจตรี ช. ผู้จับกุมเบิกความเป็นพยานว่า ก่อนจับกุม มีสายลับมาแจ้งให้ทราบว่าจำเลยมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายยาเสพติด วันเกิดเหตุพยานทั้งสองกับพวกวางแผนล่อซื้อจับกุมโดยให้สิบตำรวจตรี ช. ปลอมตัวไปกับสายลับและนำเงินไปล่อซื้อ ร้อยตำรวจเอก ส. กับพวกซุ่มดูอยู่ห่างจากจุดล่อซื้อประมาณ ๕๐ เมตร บริเวณที่ล่อซื้อเป็นศาลาที่พักริมถนน เห็นจำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่ศาลา สิบตำรวจตรี ช. ขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยและล้วงกระเป๋าหยิบธนบัตรออกมานับและขอดูเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้สิบตำรวจตรี ช. ดูจำนวน ๗ เม็ด สิบตำรวจตรี ช. จึงเก็บเงินใส่กระเป๋าและแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ โบกมือให้สัญญาณและเข้าจับกุมตัวจำเลย ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน จุดที่ล่อซื้อและจับกุมเป็นศาลาที่พักริมทาง เชื่อว่าพยานโจทก์ที่ซุ่มดูอยู่น่าจะเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะสิบตำรวจตรี ช. ได้แสดงตัวและจับกุมจำเลยทันทีเมื่อจำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้ แม้ว่าในชั้นจับกุมจำเลยจะกล่าวอ้างว่ามีการซ้อมทำร้ายร่างกายก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนจะรู้จักกับจำเลยหรือมีสาเหตุกับจำเลยมาก่อนอันจะเป็นเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้ง อีกทั้งจำเลยเบิกความรับว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ทำร้ายจำเลย และยินยอมลงชื่อในบันทึกคำรับสารภาพ ข้อเท็จจริงรับฟังเชื่อได้มั่นคงว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจริงตามฟ้อง เพราะตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ นิยามคำว่า "จำหน่าย" หมายความถึง ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ การที่จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจดูโดยไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ถึงแม้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะยังมิได้ส่งมอบค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลย แล้วจำเลยก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับ การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว เพราะจำเลยมีเจตนาที่จะจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอยู่ก่อนแล้ว มิใช่เป็นเพียงความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจแก้โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษามา เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๒ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง, ๖๖ วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓.