โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจมีวัตถุออกฤทธิ์ชนิดเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นเกลือของแอมเฟตามีนจำนวน ๖ เม็ด ไว้ในความครอบครองเพื่อขาย ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท ๒ และจำเลยได้ขายวัตถุออกฤทธิ์ชนิดเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๒ เม็ดให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยวัตถุออกฤทธิ์จำนวน ๖ เม็ด และจำเลยบังอาจมีกัญชาแห้งอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ไว้ในความครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายจำนวน ๑ ห่อเล็ก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔,๖, ๑๓, ๖๒, ๘๙, ๑๐๖, ๑๑๖ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๒๖, ๗๖, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๙๑
จำเลยให้การรับว่ามีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในความครอบครองจริงแต่มิได้มีไว้เพื่อจำหน่าย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทให้แก่สายลับและจำเลยมีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเพื่อขาย ส่วนข้อหาฐานมีกัญชาฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีไว้ในครอบครอง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔,๑๓, ๘๙ ให้จำคุกจำเลยฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและจำคุกฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ของกลางให้ริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔, ๑๓, ๖๒, ๘๙, ๑๐๖ จำคุกฐานขายวัตถุออกฤทธิ์และจำคุกฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองข้อหาฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อขาย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม มาตรา ๑๓, ๘๙ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองธรรมดามีกำหนดหนึ่งปีเป็นการคลาดเคลื่อน
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้ใช้สายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย จำเลยได้จำหน่ายให้ ๒ เม็ด สายลับได้นำวัตถุออกฤทธิ์ที่ซื้อมามอบให้ร้อยตำรวจเอกวุฒิ ร้อยตำรวจเอกวุฒิเข้าไปตรวจพบวัตถุออกฤทธิ์อีก ๔ เม็ดที่ตัวจำเลยพร้อมด้วยธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อของกลางจึงเป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่จำเลยขายและมีไว้เพื่อขาย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อหาฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันว่า จำเลยมีความผิดและลงโทษจำคุก ๕ ปี โจทก์จำเลยไม่ฎีกา ข้อหาฐานขายจึงเป็นอันยุติปัญหาในชั้นฎีกามีว่า วัตถุออกฤทธิ์จำนวน ๖ เม็ดจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขายเป็นความผิดตามมาตรา ๑๓ หรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ บัญญัติห้ามเฉพาะการผลิต ขายนำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๑ หรือประเภท ๒ เท่านั้นว่ามีความผิดและบทกำหนดโทษตามมาตรา ๘๙ และมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า "ขาย" ว่าหมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบ หรือมีไว้เพื่อขายฉะนั้นการขายหรือมีไว้เพื่อขายตามนัยแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกัน คดีนี้ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุก่อนที่จะมีการจับกุมจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจได้ใช้ให้สายลับไปล่อซื้อวัตถุออกฤทธิ์ชนิดเมทแอมเฟตามีน (ยาม้า) จากจำเลย และจำเลยได้ขายให้มา ๒ เม็ด แล้วต่อมาในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเองเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งคอยอยู่ใกล้ ๆ จึงเข้าไปตรวจค้นบ้านจำเลยและได้มาอีก ๔ เม็ดอย่างเดียวกับที่ให้สายลับไปล่อซื้อในกระเป๋าสตางค์ที่ตัวจำเลยและได้ธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อคืนมาด้วย วัตถุออกฤทธิ์ชนิดเมทแอมเฟตามีนจำนวน ๒ เม็ดที่จำเลยขายให้แก่สายลับกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจค้นได้จากจำเลยอีก ๔ เม็ด รวมทั้งสิ้นเป็น ๖ เม็ดจึงเป็นวัตถุออกฤทธิ์จำนวนเดียวกันที่จำเลยขายและมีไว้ในครอบครองเพื่อขายในวันเวลาเดียวกันและต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวคือการขายนั่นเอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ชนิดเมทแอมเฟตามีนตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓, ๘๙ เพียงกระทงเดียว