โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 313 (1) (3) ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 (1) (3) วรรคแรก จำคุก 16 ปี คำให้การและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 12 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง ฟ. เป็นบุตรของนางติก๊ะ ผู้เสียหาย ขณะเกิดเหตุเด็กหญิง ฟ. อายุ 1 ปีเศษ ตามสำเนารายการเกี่ยวกับทะเบียนบ้าน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2549 จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดา ต่อมาจำเลยติดต่อนางตอยบ๊ะ น้องสาวผู้เสียหายและนายอับดลมะเลข ให้ผู้เสียหายนำทองคำหนัก 5 บาท และให้นายอับดลมะเลขนำเงินจำนวน 500,000 บาทไปให้จำเลย แล้วจำเลยจะคืนเด็กหญิง ฟ.ให้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของทองคำหนัก 5 บาท ผู้เสียหายเบิกความยอมรับว่าเคยขอยืมเงินจำเลยโดยจำเลยมอบทองคำให้ผู้เสียหายนำไปจำนำและผู้เสียหายยังไม่ได้คืนเงินให้แก่จำเลย แสดงว่า จำเลยเรียกร้องทองคำเท่ากับที่จำเลยให้ผู้เสียหายนำไปจำนำ และในส่วนที่จำเลยเรียกร้องเงินจำนวน 500,000 บาท จากนายอับดลมะเลขนั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายอับดลมะเลขว่า นายอับดลมะเลขเป็นหนี้จำเลยและนายฮัสสันสามีจำเลยเป็นเงินเพียง 50,000 บาท ส่วนจำเลยเบิกความว่านายอับดลมะเลขเป็นหนี้จำเลยค่าซื้อที่ดินเป็นเงิน 100,000 บาท และเคยยืมเงินจากนายฮัสสันสามีจำเลยเป็นเงิน 20,000 บาท จำนวนเงินที่นายอับดลมะเลขเป็นหนี้จำเลยตามคำเบิกความของนายอับดลมะเลขและจำเลยดังกล่าวแม้จะเป็นเงินที่น้อยกว่าจำนวน 500,000 บาท ที่จำเลยเรียกร้องจากนายอับดลมะเลขก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าจำเลยและผู้เสียหายรู้จักคุ้นเคยกันมานาน จำเลยเคยเลี้ยงดูบุตรคนอื่นของผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุมาแล้ว 2 คน การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ.ไปจากผู้เสียหายตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2549 ในวันดังกล่าวจำเลยและผู้เสียหายได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ จำเลยก็ไม่ได้เรียกร้องทองคำและเงินจากนายอับดลมะเลขในทันที จำเลยพึ่งจะโทรศัพท์ถึงนางตอยบ๊ะ น้องสาวผู้เสียหายในวันที่ 11 มิถุนายน 2549 และมีการพูดคุยให้ผู้เสียหายนำทองคำหนัก 5 บาท และให้นายอับดลมะเลขนำเงินจำนวน 500,000 บาท ไปมอบให้แก่จำเลย จึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ไปจากผู้เสียหาย จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายและนายอับดลมะเลขเพื่อเป็นค่าไถ่มาตั้งแต่แรก การที่จำเลยโทรศัพท์ถึงนางตอยบ๊ะน้องสาวผู้เสียหายในวันที่ 11 มิถุนายน 2549 และมีการเรียกร้องเอาทองคำจากผู้เสียหายและเงินจากนายอับดลมะเลข ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าเป็นการเรียกร้องเอาทองคำเท่ากับจำนวนที่จำเลยมอบทองคำให้ผู้เสียหายนำไปจำนำ ส่วนจำนวนเงินที่จำเลยเรียกร้องจากนายอับดลมะเลขนั้น แม้จะเป็นจำนวนที่เกินกว่าที่จำเลยอ้างว่านายอับดลมะเลขเป็นหนี้จำเลย แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความจากคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวน ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินค่าที่ดินที่นายอับดลมะเลขจะต้องคืนให้แก่จำเลย โดยจำเลยให้การด้วยว่าจำเลยได้ลงทุนปรับที่ดินที่ซื้อจากนายอับดลมะเลขและใช้เงินไปมากแล้วทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ความว่านายอับดลมะเลขเป็นญาติหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายหรือเด็กหญิง ฟ. ที่จำเลยจะใช้เป็นเงื่อนไขในการเรียกร้องเงินจากนายอับดลมะเลข จึงน่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาที่จะเรียกร้องเอาทองคำและเงินที่จำเลยเชื่อว่าจำเลยควรจะได้ ดังนั้น ทองคำและเงินที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหายและนายอับดลมะเลข ดังกล่าวจึงมิใช่ค่าไถ่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 (1) (3) วรรคแรก จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่การที่จำเลยพาเด็กหญิง ฟ. ซึ่งมีอายุเพียง 1 ปีเศษ ไปจากผู้เสียหายและไม่ยอมคืนให้แก่ผู้เสียหายดังกล่าวเป็นการหน่วงเหนี่ยวเด็กหญิง ฟ. อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 (3) วรรคแรก ที่โจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรกได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก จำคุก 3 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่คงจำคุก 2 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9