โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 265, 268
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทโซเทค จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266, 268 (ที่ถูกมาตรา 266 (4), 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 266 (4)) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารตั๋วเงินปลอมจึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารตั๋วเงินปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (ที่ถูกมาตรา 268 วรรคสอง) กระทงเดียว และแม้โจทก์จะมิได้อ้างมาตรา 266 มาด้วย ก็เป็นกรณีที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ลงโทษจำเลยตามมาตรา 266 ได้ จำเลยกระทำความผิด 5 กรรม ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติเป็นเบื้องต้นว่า ระหว่างปลายปี 2535 ถึงปลายปี 2537 จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมทำหน้าที่ทำบัญชีรับ - จ่าย เขียนเช็คจ่ายให้แก่ลูกค้าของโจทก์ร่วม และนำเช็คเงินสดของโจทก์ร่วมวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ไปเบิกเงินจากธนาคาร โจทก์ร่วมเปิดบัญชีไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาหาดใหญ่ และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษม หาดใหญ่ โดยให้ลงลายมือชื่อของนายวิชัยและนางยุพดีกรรมการของโจทก์ร่วมคนใดคนหนึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อในเช็คและตัวอย่างตราประทับให้ไว้แก่ธนาคาร ต่อมาเดือนมกราคม 2538 จำเลยลาออก นายวิชัยจึงตรวจสอบสมุดเช็ค ปรากฏว่าต้นขั้วเช็คและสมุดเช็คบางฉบับหายไปจึงไปตรวจสอบกับธนาคารพบว่าเช็คที่หายไปและนำมาเรียกเก็บเงินจากธนาคารมีลายมือชื่อคล้ายกับลายมือชื่อของนายวิชัย แต่นายวิชัยไม่ได้ลงลายมือชื่อและที่ด้านหลังเช็คมีลายมือชื่อของจำเลยเป็นผู้รับเงิน นายวิชัยจึงตรวจสอบเช็คทั้งหมดตั้งแต่จำเลยเริ่มเข้าทำงาน พบเช็คของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาหาดใหญ่ 8 ฉบับ ไม่ใช่ลายมือชื่อของนายวิชัย และเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษม หาดใหญ่ 45 ฉบับ ไม่ใช่ลายมือชื่อของนายวิชัย สำหรับเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษม หาดใหญ่ 45 ฉบับ ซึ่งมีผู้ลงลายมือชื่อของนายวิชัยปลอมและนำไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็คนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และเช็คของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาหาดใหญ่ 3 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.4 ฉบับที่ 3, 4 และ 7 ซึ่งมีผู้ลงลายมือชื่อของนายวิชัยปลอมและนำไปเบิกเงินจากธนาคารตามเช็คนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยโจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ ดังนั้น ในฐานความผิดปลอมเอกสารตั๋วเงินและใช้เอกสารตั๋วเงินปลอม เช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษม หาดใหญ่ 45 ฉบับ และเช็คของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาหาดใหญ่ 3 ฉบับดังกล่าว จึงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อ 1 ว่า โจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ว่า จำเลยได้ปลอมเช็คอันเป็นเช็คทั้งหมดที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ แล้วได้เบิกเงินตามเช็คและยักยอกเงินตามเช็คไปจำนวน 3,000,000 บาทเศษ ต่อมาจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ แต่โจทก์ร่วมกลับนำมูลหนี้ตามเช็คดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นให้ชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดอีก จนเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วม คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์และโจทก์ร่วมนำเช็คจำนวนเดียวกันมาฟ้องร้องจำเลยเป็นคดีนี้ในความผิดฐานปลอมเช็คอันเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมเป็นคดีนี้ อันเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในความผิดที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว จึงเป็นการฟ้องซ้ำและสิทธิในการนำคดีอาญาของโจทก์มาฟ้องคดีนี้ได้ระงับลงแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2), (4) ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมเคยร้องทุกข์กล่าวหาจำเลยว่ายักยอกเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมไปจำนวน 3,000,000 บาทเศษ แล้วต่อมาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยและถอนคำร้องทุกข์ในคดีดังกล่าวไป ก็เพียงทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกทรัพย์อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ค่าเสียหายจากมูลละเมิดที่เกิดจากการปลอมเช็คและเบิกเงินตามเช็คไป ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุด ก็มีผลเพียงเห้ามคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเฉพาะมูลคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 เท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่เคยมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีอาญาสำหรับความผิดฐานปลอมเอกสารตั๋วเงินและใช้เอกสารตั๋วเงินปลอม อันเป็นมูลคดีนี้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีสิทธิฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็นคดีนี้ได้ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องคดีนี้ของโจทก์และร่วมยังไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อ 2 และข้อ 3 ว่าโจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (4) เป็นฟ้องเคลือบคลุม และศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้ปลอมเช็ค 53 ฉบับ อันเป็นเอกสารสิทธิ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 แม้ไม่ได้บรรยายว่าปลอมตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (4) แต่เช็คก็เป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่ง คำบรรยายฟ้องเช่นนี้ทำให้จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาโดยถูกต้องแล้วว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดอย่างไร แม้โจทก์มิได้ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (4) ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว และทางพิจารณาโจทก์และโจทก์ร่วมก็สืบสมว่าจำเลยปลอมเช็คจำนวน 5 ฉบับตามเอกสารหมาย จ.4 ฉบับที่ 1, 2, 5, 6 และ 8 และใช้หรืออ้างเอกสารเช็คปลอม จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คู่ความฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลฎีกาเห็นว่า เช็คตามเอกสารหมาย จ.4 ฉบับที่ 1 มีจำนวนเงิน 40,000 บาท ฉบับที่ 2 จำนวนเงิน 195,000 บาท ฉบับที่ 5 จำนวนเงิน 20,000 บาท ฉบับที่ 6 จำนวนเงิน 30,000 บาท ฉบับที่ 8 จำนวนเงิน 50,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 335,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี นั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาก็ย่อมมีอำนาจและเห็นสมควรลงโทษให้เหมาะสมแก่ความผิดได้"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวม 5 กระทงเป็นจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9