โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 69, 76 และ 78 พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 53 และ 82 สั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหาย ปรับจำเลยรายวันนับแต่วันที่กระทำความผิดถึงวันฟ้องและนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกประกอบกิจการหรือได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4054/2556 (ศปก. 12/2556) และ อ. 2253/2557 (ศปก. 8/2557) ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะข้อหาตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ออกจากสารบบความ
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ในความผิดต่อพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เนื่องจากโจทก์เคยฟ้องจำเลยในข้อหาจัดตั้งหรือประกอบกิจการวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจและได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ซึ่งเป็นเหตุเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ. 4054/2556 (ศปก. 12/2556) และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ. 4674/2557
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4054/2556 (คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ. 4674/2557) และพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 53 วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับ 100,000 บาท และให้ปรับจำเลยเป็นรายวัน วันละ 500 บาท นับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2557 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 4054/2556 (ศปก. 12/2556) และคดีหมายเลขดำที่ อ. 2253/2557(ศปก. 8/2557) นั้น ศาลมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอให้นับโทษต่อและคำขออื่นนอกจากนี้
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานจัดตั้งและประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 53 วรรคหนึ่ง ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง รวมจำนวน 3 คดี กล่าวคือ คดีแรก ฟ้องเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ. 4054/2556 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง (ศปก. 12/2556) โดยบรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2557 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ. 4674/2557 คดีที่ 2 ฟ้องเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ. 2253/2557 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง (ศปก. 8/2557) โดยบรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2556 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ. 1019/2558 และคดีที่ 3 คือ คดีนี้ โดยบรรยายฟ้องว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2556 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ซึ่งเป็นวันเวลาเดียวกับฟ้องโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ อ. 2253/2557 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง สถานที่เกิดเหตุทั้งสามคดีเป็นสถานที่เดียวกัน คือโรงแรมไพร์เว็ทรีสอร์ทของจำเลย โดยที่ฐานความผิด
ที่โจทก์ฟ้องจำเลยในทั้งสามคดีเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 53 วรรคหนึ่ง ฐานจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนซึ่งมีสาระสำคัญขององค์ประกอบความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนอันเดียวกัน ข้อเท็จจริงแห่งการกระทำความผิดตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ขณะที่คดีหมายเลขแดงที่ อ. 1019/2558 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันอยู่ในระหว่างพิจารณา ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความว่า ต่อมาคดีหมายเลขแดงที่ อ. 4674/2557 และคดีหมายเลขแดงที่ อ. 1019/2558 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อความผิดของจำเลยในคดีนี้อาศัยข้อเท็จจริงอันเดียวกันกับคดีดังกล่าวซึ่งถึงที่สุดแล้ว กรณีถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง ศาลไม่อาจมีการพิจารณาพิพากษาความผิดในคดีนี้ของจำเลยซ้ำอีกได้ เพราะสิทธินำคดีอาญาในข้อหาความผิดดังกล่าวของโจทก์ระงับสิ้นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) แล้ว เมื่อวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 53 วรรคหนึ่ง ได้อีก คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยและพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์