ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาฆ่าแต่ทำไม่สำเร็จ วัตถุระเบิดมีกำลังอ่อน ศาลลดโทษจากพยายามฆ่าเป็นทำร้ายร่างกาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ความพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 38, 74 ให้จำคุก 2 ปี กระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80 ให้จำคุก 10 ปี อีกกระทงหนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่า เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 81 ให้จำคุก 4 ปี ดังนี้ ข้อหาฐานมีวัตถุระเบิดฯ ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ส่วนข้อหาฐานพยายามฆ่านั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าลูกระเบิดที่จำเลยขว้างผู้เสียหายนั้นเป็นลูกระเบิดชนิดร้ายแรงเพียงใดหรือไม่ แต่ปรากฏบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับทั้งๆ ที่ผู้เสียหายอยู่ตรงจุดระเบิดนั้นเองว่า มีบาดแผลเพียง 4 แห่ง คือ 1.บริเวณกกหูขวา หูขวา และใบหน้าแถบขวา แผลจุดแดงเล็กๆ ทั่วบริเวณและผิดหนังแดงพอง 2.บริเวณคอแถบขวาแผลขาว 1.5 เซนติเมตร 2 แห่ง รอบแผลบวมแดง 3.สะบักขวาผิดหนังขาดกว้าง 4 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร ลึก 0.5 เซนติเมตร รอบแผลบวมมาก และบริเวณเดียวกันมีแผลยาว 2 เซนติเมตร 3 แห่ง รอบๆ แผลมีจุดแดงๆ เล็ก ทั่วไป ผิวหนังพอง 4. เนื้อไหม้เป็นวงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้วฟุต ผู้เสียหายรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 1 คืน รุ่งขึ้นแพทย์ก็ให้กลับบ้านได้ เพียงแต่ให้ไปรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาลอีกเท่านั้น ดังนี้ แสดงว่าวัตถุระเบิดนั้นมีกำลังอ่อน ไม่อาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ แม้จำเลยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 81 หาใช่มาตรา 288, 80 ไม่