ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการประเมินภาษีโดยไม่ต้องไต่สวน หากมีเหตุเชื่อว่ารายการไม่ถูกต้อง และความชอบด้วยกฎหมายของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ที่แสดงรายการตามแบบที่ยื่นรายการเสียภาษีจะไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ที่จะออกหมายเรียกให้ผู้ที่ยื่นรายการแสดงการเสียภาษีนำบัญชีหรือเอกสารหลักฐานการลงบัญชีใด ๆ ไปให้เพื่อทำการไต่สวนตรวจสอบ หากผู้นั้นขัดขืนไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก เจ้าพนักงานประเมินก็ชอบที่จะทำการประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) และไม่มีบทบัญญัติใดในกรณีนี้บังคับว่าจะต้องทำการไต่สวนเสียก่อน
โจทก์อ้างว่าบัญชีและหลักฐานการลงบัญชีที่เก็บไว้สูญหายแต่ได้ความว่าโจทก์เพียงแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมแพว่า บัญชี 5 เล่ม ประจำปี 2515-2516 ของโจทก์หายไปเนื่องจากการโยกย้ายสำนักงานเท่านั้นไม่ปรากฏว่าเอกสารประกอบการลงบัญชีทุกชนิดต้นฉบับ หรือคู่ฉบับสัญญาเช่าซื้อของรอบระยะเวลาบัญชีปี2515-2516 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมีหมายเรียกให้โจทก์นำไปส่งมอบได้หายไปด้วย ทั้งโจทก์ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีหาได้แจ้งเรื่องบัญชี 5 เล่มที่สูญหายต่อสำนักงานบัญชีให้ชอบด้วยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 285 ลงวันที่ 24พฤศจิกายน 2515 ข้อ 15 ไม่ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่นำบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นตามหมายเรียกมาให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนตามมาตรา 19 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 2 ของยอดรายรับตามมาตรา 71(1) ดังกล่าว
จำเลยที่ 3 เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์เป็นสรรพากรเขต 4 สำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ตามกฎหมายมีอำนาจทำการประเมินเรียกเก็บภาษีในจังหวัดที่อยู่ภายในเขตอำนาจ จึงรวมถึงประเมินเรียกเก็บภาษีของโจทก์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดขอนแก่นซึ่งอยู่ในเขตอำนาจด้วย ดังนั้น การแต่งตั้งจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นกับพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นร่วมกันเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงถือว่าเป็นการชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 30(1)(ข) แล้ว