โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 317,607,905 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 78543, 54543, 54478 , 8672, 4710, 4998, 9678, 8815, 11221, 10937, 10938, 11222, 11415, 11416, 8793, 8816, 8817, 11223, 11402, 11403, 11406, 11407, 11074 และ 11075 ให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำและขาดอายุความหรือไม่
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำและขาดอายุความจึงพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.1787/2557 (ที่ถูก 1789/2557) ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.1187/2553 หมายเลขแดงที่ ผบ.1789/2557 ของศาลชั้นต้น ท้ายคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยได้ความว่า ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.1187/2553 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยแจ้งให้โจทก์รับโอนสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ โจทก์ตรวจสอบแล้วพบว่าสาธารณูปโภคดังกล่าวชำรุดบกพร่องต้องซ่อมแซมแก้ไข ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมแซมแก้ไขความชำรุดบกพร่อง จำเลยให้การว่า จำเลยจัดทำสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะในโครงการตามแผนผังโครงการและแบบก่อสร้างที่ได้รับอนุญาต และจำเลยบำรุงรักษาให้คงสภาพดังเช่นที่จัดทำขึ้นตลอดมา ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 1. ว่า จำเลยส่งมอบกิจการสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะให้แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยครบถ้วนแล้วหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ภายหลังศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกาในคดีก่อน คณะกรรมการโจทก์นำข้อเสนอของจำเลยให้ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพิจารณาแล้วมีมติให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบและควบคุมการซ่อมแซมแก้ไขสาธารณูปโภคในหมู่บ้านให้ถูกต้องตามแบบที่จำเลยได้รับอนุญาต โดยว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทำการสำรวจระดับความสูงของพื้นดิน และเขื่อนกันดินว่าเป็นไปตามแบบแผนผังโครงการ และวิธีการจัดสรรที่จำเลยได้รับอนุญาตหรือไม่ และต้องมีวิธีการแก้ไขอย่างไร เมื่อทำการตรวจสอบพบว่า จำเลยก่อสร้างรั้วเขื่อนกันดินไม่ตรงตามแบบเนื่องจากก่อสร้างเขื่อนใช้เสาเข็มไม่ครบจำนวน และพบว่าจำเลยดำเนินการปรับปรุงที่ดินโดยการถมดินทรายบดอัดแน่นด้วยรถแทรกเตอร์ให้พื้นที่ดินในบริเวณที่จัดสรรเรียบเสมอกัน โดยต้องมีระดับสูงกว่าถนนสาธารณะประมาณ 30 เซนติเมตร แต่จำเลยไม่ได้ถมที่ดินตามแผนผัง โครงการและวิธีการจัดสรรโดยมีระดับต่ำกว่าถนนกาญจนาภิเษก ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการแก้ไขรั้วเขื่อนกันดินและระดับพื้นดินให้ตรงตามแบบแผนผังโครงการ กับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบริการสาธารณะให้แก่โจทก์ เห็นได้ว่า แม้คดีก่อนและคดีนี้ต่างก็มีข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะเหมือนกันก็ตาม แต่เหตุที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อนเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.1187/2553 ของศาลชั้นต้น เป็นสาธารณูปโภคที่จำเลยจัดทำไว้แล้วเกิดมีความชำรุดบกพร่องที่สามารถพบเห็นความเสียหายโดยประจักษ์ด้วยสายตาและเป็นความชำรุดบกพร่องที่ต้องซ่อมแซมอันเป็นเรื่องที่ต้องกระทำเพื่อบำรุงรักษา ส่วนคดีนี้เป็นสาธารณูปโภคที่โจทก์อ้างว่าจำเลยก่อสร้างไม่ตรงตามแบบแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรร และคดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้เงินเพื่อซ่อมแซมความชำรุดบกพร่อง ส่วนคดีนี้ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสาธารณูปโภคที่จำเลยก่อสร้างไม่ตรงตามแบบแผนผังโครงการ ข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีทั้งสองจึงแตกต่างเป็นคนละเหตุกัน ประเด็นแห่งคดีที่ต้องวินิจฉัยก็แตกต่างเป็นคนละประเด็นกัน อีกทั้งตามฟ้องโจทก์อ้างว่ามีการตรวจสอบพบการก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบแผนผังโครงการภายหลังที่ฟ้องคดีก่อนไปแล้ว ซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การโต้เถียงข้อนี้ โจทก์จึงไม่อาจรู้ถึงการกระทำที่เป็นการโต้แย้งสิทธิตามฟ้องคดีนี้ในขณะที่ฟ้องคดีก่อน จึงถือไม่ได้ว่าในขณะฟ้องคดีก่อนโจทก์สามารถนำเหตุคดีนี้ฟ้องไปพร้อมกันได้ แต่ไม่ฟ้องเป็นการไม่ติดใจจะใช้สิทธิฟ้องคดีนี้แล้ว และกรณีถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.1187/2553 หมายเลขแดงที่ ผบ.1789/2557 ของศาลชั้นต้น ฎีกาโจทก์ประการแรกฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (4) และมาตรา 34 บัญญัติให้การโฆษณาโครงการจัดสรรที่ดินของผู้จัดสรรที่ดินต้องตรงกับหลักฐานและรายละเอียดแผนผังและรายการก่อสร้างสาธารณูปโภคที่ได้ยื่นพร้อมกับคำขออนุญาตจัดสรรที่ดิน และมาตรา 48 (4) บัญญัติความว่า เพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีอำนาจฟ้องคดีแทนสมาชิกผู้ซื้อที่ดินจัดสรรเกี่ยวกับกรณีที่กระทบสิทธิของสมาชิกตั้งแต่สิบรายขึ้นไป ดังนี้ ฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยชำระเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสาธารณูปโภคที่จำเลยก่อสร้างไม่ตรงตามแบบแผนผังโครงการ จึงถือได้ว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทำผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรรกับสมาชิกของโจทก์ผู้ซื้อที่ดินจากจำเลย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์อ้างว่าเพิ่งทราบถึงการทำผิดสัญญาดังกล่าวของจำเลยจากวิศวกรที่ว่าจ้างให้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 จึงถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องกับจำเลยจากการทำผิดสัญญาได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันนั้น นับถึงวันฟ้องวันที่ 3 มกราคม 2562 ยังไม่ล่วงพ้นเวลา 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาโจทก์ในปัญหานี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาประการสุดท้ายมีว่า จำเลยต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบริการสาธารณะตามฟ้องข้อ 11.2 แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ปัญหานี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบริการสาธารณะ โดยบรรยายฟ้องด้วยว่าการโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวจำเลยต้องชำระเงินเป็นค่าแก้ไขสาธารณูปโภคที่สร้างไม่ตรงตามแบบแผนผังโครงการเสียก่อน จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธคำขอให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แต่ปฏิเสธไม่ต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าว ดังนี้ การวินิจฉัยปัญหานี้จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่ฟ้องให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวพร้อมกันไปด้วย เพราะเป็นเงื่อนไขของคำขอให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อวินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ และคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ คดีจึงต้องวินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยต้องชำระเงินเป็นค่าแก้ไขสาธารณูปโภคดังกล่าวเสียก่อน ซึ่งศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย และยังไม่ได้วินิจฉัย จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาประเด็นนี้พร้อมกับประเด็นอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้พิจารณาและพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าเป็นฟ้องซ้ำและคดีขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่จำเลยแก้ฎีกาว่าคดีชั้นฎีกามีประเด็นเดียวคือ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.1187/2553 หมายเลขแดงที่ ผบ.1789/2557 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เท่านั้น โดยไม่มีประเด็นว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และจำเลยต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบริการสาธารณะตามฟ้องข้อ 11.2 แก่โจทก์หรือไม่ เพราะคำร้องขออนุญาตฎีกาของโจทก์ฉบับลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ข้อ 1 สรุปว่าโจทก์ฎีกาในปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำดังกล่าว นั้น เห็นว่า ข้อความตามคำร้องดังกล่าวมีใจความสรุปได้ว่า โจทก์ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบริการสาธารณะ โดยก่อนโอนให้จำเลยแก้ไขรั้วเขื่อนกันดินและปรับระดับความสูงของพื้นดินเสียก่อน ดังนี้ คดีชั้นฎีกาจึงมีประเด็นที่โจทก์ขออนุญาตฎีกาและได้รับอนุญาตฎีกาจากศาลฎีกา 3 ประเด็นดังกล่าว มิใช่มีประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำหรือไม่เพียงประเด็นเดียว ข้ออ้างตามคำแก้ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วมีคำพิพากษาในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ