โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9, 18 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 39, 40, 44, 45, 46, 47, 83, 91 ริบของกลาง จ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย และห้ามมิให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดออกนอกเคหสถาน หรือห้ามเข้าเขตกำหนดหรือห้ามมิให้เข้าไปในท้องที่หรือสถานที่ที่กำหนด หรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท โดยจะมีคำสั่งให้มีประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ และหากจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันมิได้ ขอศาลมีคำสั่งกักขังจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดไว้จนกว่าจะทำทัณฑ์บนหรือหาประกันได้
จำเลยทั้งยี่สิบเจ็ดให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคสอง, 12 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) (ที่ถูก มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2)), 18 การกระทำความผิดของจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน จำคุก 4 เดือน จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดฐานเป็นผู้ร่วมเล่นการพนัน ปรับคนละ 2,000 บาท ฐานร่วมกันฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปรับคนละ 5,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 7,000 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 21 ปรับคนละ 7,000 บาท จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งเฉพาะความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ส่วนค่าปรับตามพระราชบัญญัติการพนันไม่ลด คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน และปรับ 4,500 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 21 ปรับคนละ 4,500 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่ถูก ไม่ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดจ่ายเงินสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าปรับเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน ให้จำคุก 2 เดือน จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดฐานเป็นผู้ร่วมเล่นการพนัน ปรับคนละ 1,500 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน และปรับ 1,500 บาท จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือน ฐานเป็นผู้ร่วมเล่นการพนัน คงปรับจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดคนละ 750 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือน และปรับ 3,250 บาท รวมปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 21 คนละ 3,250 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้ลงโทษกักขัง 1 เดือน แทนโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการให้บริการโต๊ะสนุกเกอร์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดหรือชักชวนให้มีการเล่นพนันสนุกเกอร์ ลูกค้าที่มาใช้บริการเล่นพนันกันเอง และจำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินสดของกลาง ซึ่งมีลักษณะเป็นการฎีกาโต้แย้งในทำนองว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง อันเป็นการขัดแย้งกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1.1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าบ้านจัดให้มีการเล่นพนันสนุกเกอร์ โดยไม่ได้รับอนุญาต และบรรยายฟ้องในข้อ 1.2 ว่า จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดกับพวกที่หลบหนีร่วมกันเล่นพนันสนุกเกอร์ อันเป็นการพนันประเภทที่ระบุไว้ในบัญชี ข. ลำดับที่ 28 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 พนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่นพนันสนุกเกอร์ และจำเลยที่ 1 ร่วมเล่นการพนันสนุกเกอร์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 21 และพวกที่หลบหนีด้วย ซึ่งสภาพแห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่มีเจตนาแยกต่างหากจากกันได้และเป็นความผิดอยู่ในตัวเองไม่เกี่ยวข้องกัน โดยจัดให้มีการเล่นพนันสนุกเกอร์ อันมีเจตนาเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน เมื่อจำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่น จึงเป็นความผิดสำเร็จไปแล้วกรรมหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าร่วมเล่นการพนันสนุกเกอร์ด้วย อันมีเจตนาเข้าพนันเอาเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นกับผู้ร่วมเล่นคนอื่น จึงเป็นความผิดสำเร็จอีกกรรมหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เรียงกระทงมานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายว่า สมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จัดให้มีการเล่นพนันสนุกเกอร์และมีผู้ร่วมเล่นการพนันจำนวนมาก แต่เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการเล่นสนุกเกอร์เพื่อพนันเอาทรัพย์สินกันของจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดกับเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นการพนันดังกล่าวมีเพียงโต๊ะสนุก 1 โต๊ะ ลูกสนุกเกอร์ 1 ชุด ไม้คิว 4 อัน ไม้เร็ท 2 อัน ประกอบกับเงินสดของกลางมีเพียง 1,160 บาท แสดงว่า การเล่นพนันของจำเลยที่ 1 กับพวกมิได้มุ่งหมายพนันเอาทรัพย์สินกันเป็นหลักสำคัญนัก พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 จึงไม่ถึงกับเป็นเรื่องร้ายแรงมาก ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หากให้โอกาสจำเลยที่ 1 ได้กลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีสักครั้งโดยรอการลงโทษให้ น่าจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และสังคมมากกว่าที่จะลงโทษกักขังจำเลยที่ 1 ไปเสียเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษกักขังจำเลยที่ 1 มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 หลาบจำสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง
อนึ่ง ความผิดตามพระราชบัญญัติการพนันและความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดมีเจตนาเพื่อร่วมกันเล่นการพนันซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงเป็นการไม่ชอบ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันและร่วมเล่นการพนันตามพระราชบัญญัติการพนันก็เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในแต่ละฐานความผิดด้วย แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทในแต่ละฐานความผิดดังกล่าว กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 21 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศวาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 เมื่อลงโทษบทหนักตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่อาจจ่ายสินบนนำจับได้
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยจัดให้มีการเล่นพนัน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน ปรับ 5,000 บาท ฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเป็นผู้ร่วมเล่นการพนัน ปรับจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดคนละ 5,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือน ปรับ 5,000 บาท ปรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 21 คนละ 2,500 บาท ไม่เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นกักขัง โดยให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา 29, 30 ยกคำขอให้จ่ายสินบนนำจับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2.