โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 เฉพาะวาระที่ 3
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ประโยชน์ได้เสียของคู่ความทั้งสองฝ่ายขัดกัน จึงขอให้จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวเป็นผู้แทนเฉพาะการของบริษัทจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้ารับข้อเท็จจริงกันว่า
1. ในการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 มีผู้ถือหุ้นร่วมประชุมครบทั้งหมด
2. สำหรับวาระการประชุมอื่น ๆ นอกจากวาระที่ 3 คู่ความไม่โต้แย้งกันและยอมรับกันว่าการประชุมวาระอื่น ๆ ดังกล่าวนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
3. ในการประชุมวาระที่ 3 มีการเสนอต่อที่ประชุมให้เปลี่ยนชื่อวาระการประชุมจากเดิม "พิจารณาการแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระและกำหนดอำนาจกรรมการ" เป็น "พิจารณาแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระ และแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม และกำหนดอำนาจกรรมการ" และมีการลงมติอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อวาระการประชุมตามที่เสนอกับได้มีการลงมติไปตามวาระการประชุมที่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 เฉพาะวาระที่ 3 คือ พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระ และแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมและกำหนดอำนาจกรรมการของบริษัท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ว่า คดีมีเหตุให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2553 (ประชุมใหญ่สามัญ) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 ในวาระที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 การที่ศาลจะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดได้ จะต้องได้ความว่ามติที่ประชุมใหญ่เกิดขึ้นจากการประชุมใหญ่ที่ได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันหรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท ซึ่งในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 นั้น ไม่ปรากฏว่าคู่ความได้โต้แย้งว่าการทำคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1175 แต่อย่างใด แต่ได้ความว่าในวันประชุมใหญ่นั้น ที่ประชุมมีมติด้วยเสียงข้างมากอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวาระการประชุมวาระที่ 3 จากเดิมที่ว่า "พิจารณาการแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระและกำหนดอำนาจกรรมการ" เป็นว่า "พิจารณาแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระ และแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม และกำหนดอำนาจกรรมการ" ซึ่งวาระการประชุมที่เปลี่ยนแปลงใหม่เหมือนกับวาระการประชุมเดิมเฉพาะในส่วนที่ว่า พิจารณาแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระและกำหนดอำนาจกรรมการ ส่วนวาระที่เปลี่ยนแปลงใหม่ที่ไม่ตรงกับวาระการประชุมวาระที่ 3 เดิม คือ แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม คดีจึงคงมีปัญหาเพียงว่าวาระการประชุมที่เพิ่มเติมกับมีการประชุมและลงมติในวาระดังกล่าวเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า วาระการประชุมที่เพิ่มเติมเป็นวาระการประชุมที่กำหนดเร่งด่วนกะทันหัน มิได้เป็นวาระที่กำหนดไว้ในสำเนาหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2553 จึงถือว่าเป็นวาระการประชุมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1175 วรรคสอง ที่ว่า คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลาและสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากัน เมื่อมีการประชุมตามวาระนั้นและมีมติแต่งตั้งจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการใหม่ของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ที่เกิดจากการประชุมใหญ่ที่ได้มีการนัดเรียกประชุมฝ่าฝืนบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ข้างต้น แม้ในสำเนาหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2553 จะกำหนดวาระการประชุมวาระที่ 6 ว่าพิจารณาเรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี) ไว้ด้วยก็ตาม ที่ประชุมใหญ่ก็ไม่อาจอ้างวาระดังกล่าวเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณาเรื่องแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมได้ เนื่องจากวาระการประชุมที่ว่า พิจารณาเรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี) ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ใช่สาระสำคัญของการบริหารกิจการบริษัทแต่เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย สัพเพเหระมากกว่าที่สามารถหยิบยกขึ้นพิจารณาได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยการพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดล่วงหน้า แต่เรื่องการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมเป็นเรื่องสำคัญของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทควรจะได้ใช้เวลาคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบก่อนวันประชุม หากที่ประชุมใหญ่ใช้วาระดังกล่าวเพื่อประชุมลงมติเรื่องการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมก็อาจจะเป็นการจู่โจมผู้ถือหุ้นมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นและบริษัทได้ จากที่วินิจฉัยตามลำดับ มติของที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2553 เฉพาะในส่วนที่แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมขึ้นมานั้น เป็นมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 วาระที่ 3 เฉพาะในส่วนที่แต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์