คดีสืบเนื่องจากศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุกจำเลย 50 ปี โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2562 โจทก์ไม่ได้ยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต วันที่ 25 มิถุนายน 2562 ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดระบุในหมายว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 24 มิถุนายน 2562
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นแก้ไขวันที่คดีถึงที่สุดในหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเป็นวันที่ 24 เมษายน 2562
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีเป็นไปตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4095/2560 การออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คดีนี้ต้องระบุในหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดว่าคดีถึงที่สุดเมื่อใด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 42 บัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับมาตรา 44 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุด" ดังนั้น ในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเมื่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว โดยปกติคดีจะถึงที่สุดนับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้คู่ความฟัง เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ซึ่งบัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติชอบ ให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องแสดงเหตุที่ศาลฎีกาควรรับไว้พิจารณาตามมาตรา 46 พร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ แล้วให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกา และให้ศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยคำร้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว" โดยหากคู่ความฝ่ายใดยื่นคำร้องขอฎีกาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง และศาลฎีการับฎีกาไว้พิจารณา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติชอบก็ยังไม่ถึงที่สุด แต่หากศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาไว้พิจารณา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นที่สุดนับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำสั่งไม่รับฎีกานั้น ตามมาตรา 46 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2562 แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอฎีกาและคำฟ้องฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกา จึงต้องถือว่าไม่มีกรณีตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 คดีนี้จึงต้องถึงที่สุดตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 โดยถึงที่สุดนับแต่วันที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบให้คู่ความฟัง จึงต้องระบุในหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดว่าคดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้แก้ไขวันที่ถึงที่สุดในหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเป็นวันที่ 24 เมษายน 2562