ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม: ความรับผิดของผู้ซื้อเมื่ออัตราภาษีเปลี่ยนแปลงหลังทำสัญญาซื้อขาย
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 (17) มาตรา 78 และมาตรา82/4 วรรคหนึ่ง ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้ามีหน้าที่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่พระราชกฤษฎีกากำหนดและความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่จะได้มีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้า หรือได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้ออกใบกำกับสินค้าก่อนส่งมอบสินค้า การที่สัญญาซื้อขายระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ระบุว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นอัตราตามที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้ในขณะนั้น เป็นเพียงการระบุเพื่อให้เห็นว่าราคาสินค้ามิได้รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ได้แยกคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ต่างหากเท่านั้น มิใช่ข้อผูกพันว่าผู้ซื้อและผู้ขายตกลงชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7
อัตราค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระเป็นไปตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด ส่วนผู้มีหน้าที่ชำระแก่กรมสรรพากรคือเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ แต่ผู้ประกอบการมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าซึ่งก็คือลูกหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกหนี้ภายหลังจากวันที่ 16 สิงหาคม 2540 โดยเจ้าหนี้ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 10 และลูกหนี้รับสินค้าไว้แล้วเช่นนี้ ลูกหนี้ต้องมีหน้าที่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 10 อันเป็นอัตราที่พระราชกฤษฎีกากำหนดใช้ในเวลาที่มีการส่งมอบสินค้านั้น ซึ่งเจ้าหนี้ผู้ประกอบการต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเดียวกันนี้แก่กรมสรรพากร ดังนั้น เจ้าหนี้จึงขอให้ลูกหนี้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่ได้ชำระเพิ่มไปจำนวนดังกล่าวแก่เจ้าหนี้ได้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้ชำระแก่กรมสรรพากร
ที่ผู้บริหารแผนอุทธรณ์ว่า สัญญาซื้อขายคดีนี้เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรได้โอนไปยังลูกหนี้นับแต่เมื่อได้เข้าทำสัญญาซื้อขาย ทำให้เจ้าหนี้ต้องออกใบกำกับภาษีในวันที่ทำสัญญา ตามสัญญาซื้อขายเครื่องจักรได้บรรยายชนิดและจำนวนเครื่องจักรไว้ 9 รายการ มิได้ระบุหมายเลขประจำเครื่องจักรหรือหมายเลขประจำอุปกรณ์แต่ละชิ้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้จึงยังมิใช่ทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง ทั้งในสัญญาก็มีข้อความว่า ผู้ซื้อชำระราคาในวันทำสัญญาเพียงร้อยละ20 ส่วนราคาที่เหลืออีกร้อยละ 80 ผู้ซื้อจะชำระให้ร้อยละ 40 ในวันส่งมอบเครื่องจักรและจะชำระส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 ในวันที่ติดตั้งเครื่องและทดลองคุณภาพของเครื่องที่ได้กำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว เห็นได้ว่าสาระสำคัญของสัญญาซื้อขายนี้จะต้องติดตั้งเครื่องจักรและทดลองเดินเครื่องให้ได้คุณภาพตามที่กำหนดไว้ หากไม่ได้ผลตามที่กำหนดอาจต้องเปลี่ยนเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ได้ส่งมอบแต่ละรายการหรือทั้งหมดอีกก็ได้กรณีจึงเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้หมาย หรือนับ ชั่ง ตวง วัด หรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่นเพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 460 วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าแต่ละชิ้นในวันที่ส่งมอบหรือติดตั้งสินค้า จึงเป็นการปฏิบัติสอดคล้องกับข้อตกลงในสัญญาซื้อขายแล้ว การที่เจ้าหนี้ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10จึงมิใช่ความผิดของเจ้าหนี้