โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 54,873,352 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยชำระเงิน 37,423,615 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 34,594,452 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยชดใช้เงินอันเป็นค่าเสียหายในเชิงลงโทษแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 109,746,704 บาท และโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 74,847,230 บาท
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 5,441,780.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย และโจทก์ที่ 2 ชำระเงิน 11,101,369.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 9,435,000 บาท และใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 มกราคม 2559) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 9,515,000 บาท และใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสอง 50,000 บาท และค่าทนายความ 50,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง และให้โจทก์ที่ 1 ชำระเงินแก่จำเลย 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 13 กรกฎาคม 2559) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงินแก่จำเลย 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 13 กรกฎาคม 2559) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องและฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองอยู่กินฉันสามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสตั้งแต่ปี 2558 และร่วมกันประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ ที่นอน เตียง และโซฟา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินอาคารเลขที่ 39/187 จังหวัดสมุทรสาคร โดยทรัพย์สินที่เอาประกันภัยคือ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง วงเงินประกันภัย 10,000,000 บาท เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราและทรัพย์สินอื่น ๆ วงเงินประกันภัย 2,000,000 บาท เครื่องจักร วงเงินประกันภัย 3,000,000 บาท สต๊อกสินค้า (ประเภทเฟอร์นิเจอร์) วงเงินประกันภัย 35,000,000 บาท รวมจำนวนเงินเอาประกันภัย 50,000,000 บาท ระยะเวลาประกันภัย 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2556 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2557 ส่วนโจทก์ที่ 2 เปิดร้านชื่อ บ. เพื่อจำหน่ายสินค้า ทำสัญญาประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินอาคารเลขที่ 39/186 จังหวัดสมุทรสาคร โดยทรัพย์สินที่เอาประกันภัยคือ อาคารสิ่งปลูกสร้าง วงเงินประกันภัย 18,000,000 บาท เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราและทรัพย์สินอื่นวงเงินประกันภัย 2,000,000 บาท สต๊อกสินค้า (ประเภทเฟอร์นิเจอร์) วงเงินประกันภัย 20,000,000 บาท รวมจำนวนเงินเอาประกันภัย 40,000,000 บาท ระยะเวลาประกันภัย 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2556 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2557 โดยอาคารทั้งสองหลังที่ทำสัญญาประกันภัยอยู่ติดกัน ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2556 มีเหตุเพลิงไหม้ทรัพย์สินที่โจทก์ทั้งสองเอาประกันภัยดังกล่าว จำเลยได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัย จำเลยจึงมอบให้บริษัท ค. โดยนายเอกภพ กรรมการบริษัทและเป็นผู้ได้ใบอนุญาตเป็นผู้ประเมินวินาศภัยจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เข้าตรวจสอบความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2552 ข้อ 7 บริษัทดังกล่าวเข้าตรวจสอบและประเมินความเสียหาย และขอเอกสารจากโจทก์ทั้งสองเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาประเมินความเสียหาย แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ส่งเอกสารให้แก่บริษัทโดยอ้างว่าเอกสารถูกเพลิงไหม้ไปทั้งหมด เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานจังหวัดสมุทรสาครตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้และสรุปผลการตรวจสอบว่า ไม่สามารถลงความเห็นถึงสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ได้ เนื่องจากวัตถุพยานถูกเพลิงไหม้เสียหายมาก และตรวจไม่พบวัตถุพยานที่สามารถบ่งชี้แหล่งความร้อนที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ วันที่ 16 มกราคม 2557 โจทก์ทั้งสองร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยชี้แจงว่าพร้อมที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เสียหายมาประกอบการพิจารณา ซึ่งจำเลยเสนอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 24,258,814.87 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 22,612,347.50 บาท แต่โจทก์ทั้งสองไม่ตกลง ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มทุนประกันภัย โดยโจทก์ทั้งสองจะส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน 30 วัน แต่โจทก์ทั้งสองไม่ส่งเอกสารให้แก่จำเลย นางนัยนา ผู้จัดการฝ่ายสินไหมของจำเลยจึงมีหนังสือสอบถามและขอกำหนดเวลาเพื่อพิจารณาค่าสินไหมทดแทน แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ส่งเอกสารตามกำหนด จนกระทั่งต้นปี 2558 โจทก์ที่ 2 ส่งเอกสารบัญชีสต๊อกสินค้า ใบส่งสินค้า ใบเสร็จรับเงินและรายการสรุปยอดสินค้าคงเหลือ ประกอบการพิจารณาค่าสินไหมทดแทน นายเอกภพได้รับเอกสารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 และเดือนมีนาคม 2558 นายเอกภพได้รับสำเนาเอกสารสรุปยอดสินค้าคงเหลือรวมทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ใบส่งสินค้าชั่วคราวของโจทก์ที่ 1 ซึ่งนายเอกภพตรวจสอบเอกสารที่โจทก์ทั้งสองส่งมอบพบว่าปริมาณสินค้าและเอกสารดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้พิจารณาการมีอยู่ของสต๊อกสินค้าได้ชัดเจน เนื่องจากเมื่อนำจำนวนสินค้าตามบิล ใบเสร็จ และใบแจ้งหนี้มาทำการจัดวางในพื้นที่ของโจทก์ทั้งสองแล้วพื้นที่ของโจทก์ทั้งสองไม่สามารถบรรจุจำนวนสินค้าดังกล่าวได้ ประกอบกับความชัดเจนและการลำดับเลขที่บิลและใบกำกับภาษีมีการซ้ำซ้อนโดยนายเอกภพแจ้งให้จำเลยทราบ ภายหลังเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. แจ้งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในเบื้องต้นให้โจทก์ทั้งสองไปก่อน ในวันที่ 25 ธันวาคม 2557 จำเลยจึงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 10,000,000 บาท และวันที่ 10 เมษายน 2558 จำเลยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 5,000,000 บาท ส่วนทรัพย์สินที่เสียหายจากเพลิงไหม้มีผู้รับซื้อซากในราคารวม 1,050,000 บาท โดยโจทก์ที่ 1 ได้รับเงิน 565,000 บาท และโจทก์ที่ 2 ได้รับเงิน 485,000 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด โจทก์ทั้งสองฎีกาโดยสรุปว่า สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยกำหนดวงเงินเอาประกันภัยในทรัพย์สินแยกออกเป็นแต่ละประเภทแล้ว มีข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยหากมีความเสียหายเกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัยส่วนใด จำเลยต้องรับผิด เมื่อทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเกิดเหตุเพลิงไหม้สิ้นเชิงแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดตามวงเงินที่เอาประกันภัย การที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าโจทก์ทั้งสองนำเอาหลักฐานเอกสารอันเป็นเท็จไปใช้พิสูจน์ความเสียหายจึงให้จำเลยพ้นความรับผิดทั้งหมดไม่ถูกต้อง ส่วนที่ศาลอุทธรณ์รับฟังว่าโจทก์ทั้งสองมีหนี้การค้าและถูกฟ้องคดีต่าง ๆ อีกหลายคดีตามคำเบิกความของนายอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจจำเลยส่อให้เห็นถึงเหตุจูงใจไปสู่การกระทำที่ไม่สุจริตไม่ถูกต้องเพราะโจทก์ทั้งสองมีเจ้าหนี้การค้าเพียง 4 ราย แม้โจทก์ที่ 1 เป็นกรรมการของบริษัท อ. ก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวเป็นของบริษัทไม่ใช่หนี้ส่วนตัวของโจทก์ที่ 1 เอกสารการสั่งซื้อของบริษัทไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์สินค้าที่เอาประกันภัยได้ ส่วนคดีอาญาที่โจทก์ทั้งสองถูกฟ้องซึ่งศาลอุทธรณ์นำมาวินิจฉัยประกอบเหตุผลนั้นไม่ถูกต้องเนื่องจากคดีดังกล่าวโจทก์ทั้งสองฎีกาคัดค้านคำพิพากษาที่ลงโทษจำคุกโจทก์ทั้งสอง คดีจึงยังไม่ถึงที่สุดไม่อาจรับฟังได้ ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้โจทก์แจ้งเหตุให้นายประกันภัยทราบทันที การที่ทรัพย์ที่เอาประกันภัยถูกเพลิงไหม้สิ้นเชิงจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้นเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาจำนวนวินาศจริงที่ผู้รับประกันภัยต้องรับใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าจำนวนวินาศภัยแท้จริงน้อยกว่าจึงเป็นหน้าที่จำเลยต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ แต่กลับให้โจทก์ทั้งสองหาหลักฐานมาพิสูจน์และหาเหตุปฏิเสธความรับผิดอ้างว่าโจทก์ทั้งสองฉ้อฉล โจทก์ที่ 2 เพียงผู้เดียวที่ขอให้นางวรรณาออกใบเสร็จรับเงินย้อนหลังไม่ตรงความจริงเนื่องจากเป็นตามความทรงจำ ทั้งการขอเอกสารเป็นไปตามคำแนะนำของฝ่ายจำเลยและบริษัทที่ตรวจสอบ เพราะโจทก์ทั้งสองแจ้งแต่แรกแล้วว่าเอกสารของโจทก์ทั้งสองถูกเพลิงไหม้ทั้งหมด แม้การส่งมอบใบส่งของ ใบเสร็จรับเงินของโจทก์ที่ 2 จะคลาดเคลื่อนก็ตาม แต่การกระทำของโจทก์ที่ 2 ยังไม่แน่นอนและห่างไกลจากการที่โจทก์ทั้งสองจะได้มาซึ่งเงินค่าสินไหมทดแทน และโจทก์ที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำของโจทก์ที่ 2 ด้วย นั้น เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์ทั้งสองฉ้อฉล แสดงข้อความอันเป็นเท็จและใช้เอกสารอันเป็นเท็จ จำเลยจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ข้อ 5 หรือไม่ ได้ความจากพยานจำเลยปากนายอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจ และนายวันชัย ผู้อำนวยการฝ่ายสินไหมทดแทนของจำเลยเบิกความทำนองเดียวกันในสาระสำคัญว่า หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารที่เอาประกันภัย โจทก์ทั้งสองร้องเรียนต่อสำนักงาน คปภ. ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยพร้อมที่จะชดใช้ แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เสียหายมาประกอบการพิจารณา โดยโจทก์ทั้งสองอ้างว่าเอกสารหลักฐานถูกเพลิงไหม้หมด และในการประชุมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 โจทก์ทั้งสองยืนยันที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยสิ้นเชิงเต็มตามวงเงินที่เอาประกัน 90,000,000 บาท นายวันชัยติดตามให้โจทก์ทั้งสองส่งเอกสารทั้งหมด แต่โจทก์ทั้งสองยังคงไม่นำเอกสารใด ๆ มาส่งมอบ เจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. จึงแจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปขอหลักฐานจากผู้ค้ามาแทน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. มีหนังสือฉบับลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 แจ้งโจทก์ทั้งสองว่าให้โจทก์ทั้งสองจัดส่งเอกสารเพิ่มเติม หากพ้นกำหนดจะถือว่าโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะดำเนินการร้องเรียนต่อไป และจะยุติการพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองเพื่อบรรเทาความเสียหายและไม่ให้นำเรื่องอายุความขึ้นกล่าวอ้างกัน จำเลยจึงจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองบางส่วน หลังจากนั้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2558 บริษัท ค. แจ้งว่าโจทก์ทั้งสองนำเอกสารแสดงปริมาณและราคาต่อหน่วยสินค้าเพื่อพิสูจน์ความเสียหายมาส่งมอบให้แล้วบางส่วน และวันที่ 25 มีนาคม 2558 โจทก์ทั้งสองนำเอกสารที่เหลือมาส่งให้แก่บริษัท ค. จนครบถ้วน แต่เมื่อจำเลยตรวจสอบเอกสารที่โจทก์ทั้งสองส่งแล้ว พบว่าจำนวนปริมาณสินค้าที่อยู่ในสต๊อกสินค้ามีจำนวนมาก จึงเกิดข้อสงสัยว่าไม่น่าจะสามารถเก็บรักษาในพื้นที่ร้านโจทก์ทั้งสองได้ทั้งหมด และการลำดับเลขที่ใบกำกับภาษีซ้ำซ้อนกันด้วย ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2558 จำเลยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 5,000,000 บาท จากนั้นนายอดิศักดิ์ นำคำสั่งเรียกพยานเอกสารฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2558 ของศาลแพ่งธนบุรี ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2087/2557 ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. โจทก์ กับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว มาส่งมอบให้ทางจำเลย นายอำนาจพูดคุยกับนายอดิศักดิ์จึงทราบว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. เป็นผู้จำหน่ายสินค้าให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 สั่งจ่ายเช็คชำระค่าสินค้า แต่เงินไม่พอจ่าย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. จึงยื่นฟ้องโจทก์ที่ 1 และนายอำนาจยังทราบอีกว่าโจทก์ที่ 1 มีปัญหาทางด้านการเงินมาก่อนที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้ และในคดีดังกล่าวมีการอ้างส่งเอกสารการซื้อสินค้าในสำนวนด้วย ซึ่งโจทก์ที่ 1 สามารถคัดถ่ายเอกสารส่งให้ฝ่ายจำเลยประกอบการพิจารณาได้ แต่โจทก์ที่ 1 ก็ไม่ดำเนินการ กลับเพิ่งจัดส่งเอกสารให้ทางจำเลยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 และไม่มีเอกสารการซื้อสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. ส่งมาด้วย ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. ร้องเรียนต่อสำนักงาน คปภ.ว่า หากจำเลยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทน วันที่ 4 สิงหาคม 2558 เจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. จึงมีหนังสือให้จำเลยไปพบ จากการร่วมประชุมกับนายอดิศักดิ์และเจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. จำเลยทราบว่าก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ นายวิรัชต์ พนักงานส่งของห้างหุ้นส่วนจำกัด ด. ไปส่งของที่ร้านโจทก์ทั้งสอง แต่ภายในร้านมีทรัพย์สินน้อยกว่าปกติ นายอำนาจเห็นว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองมีพิรุธ จึงไปตรวจสอบเอกสารที่โจทก์ทั้งสองส่งเพื่อพิสูจน์ความเสียหายในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม 2558 โดยวิธีสุ่มตรวจ พบว่าเอกสารที่โจทก์ทั้งสองสั่งซื้อสินค้าจากร้าน ซ. และร้าน ส. ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองสั่งซื้อสินค้าจากทั้งสองร้านดังกล่าว จำเลยจึงให้นายวิจิตร และนางวรรณา เจ้าของร้าน ซ. และนายสุรชัย เจ้าของร้าน ส. จัดทำบันทึกข้อเท็จจริงไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นจำเลยแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองในความผิดฐานพยายามฉ้อโกง และพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพระโขนง ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 462/2560 หมายเลขแดงที่ 4666/2560 จำเลยจึงปฏิเสธที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง และจำเลยมีนางวรรณาและนายวิจิตรซึ่งเป็นเจ้าของร้าน ซ. ที่จำเลยสุ่มตรวจสอบมาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ประมาณ 4 เดือน ถึง 5 เดือน โจทก์ที่ 2 มาหาที่โรงงาน ขอให้นางวรรณาออกใบส่งสินค้า ใบเสร็จรับเงินให้เป็นเงิน 3,000,000 บาทเศษ ตามที่โจทก์ที่ 2 เขียนไว้ในกระดาษ นางวรรณาโต้แย้งว่า ราคาสูงเกินกว่าความเป็นจริง โดยราคาการซื้อขายในปี 2555 ถึง 2556 ปกติแล้วจะไม่ถึง 1,000,000 บาท และราคาสินค้าต่อหน่วยก็สูงกว่าความเป็นจริงอีกด้วย แต่โจทก์ที่ 2 แจ้งว่าจะนำเอกสารไปประกอบบัญชีร้านโจทก์ที่ 2 เท่านั้น นางวรรณาจึงจัดทำใบส่งสินค้า ใบเสร็จรับเงินซึ่งมีรายการตามที่โจทก์ที่ 2 ขอ หลังจากที่โจทก์ที่ 2 มารับเอกสารไปประมาณ 2 เดือน ถึง 3 เดือน โจทก์ที่ 2 มาพบนางวรรณาขอให้ออกใบส่งสินค้า ใบเสร็จรับเงินฉบับใหม่ให้อีกตามกระดาษที่โจทก์ที่ 2 เขียนสินค้าและราคาไว้ เป็นเงิน 3,000,000 บาท นางวรรณาโต้แย้งเช่นเดิม แต่นางวรรณาก็ออกใบส่งสินค้า ใบเสร็จรับเงินให้โจทก์ที่ 2 ไป ประมาณปลายปี 2556 ถึง 2557 โจทก์ที่ 2 ขอให้นางวรรณาออกเอกสารอีกเช่นเคย นางวรรณาก็จัดทำเอกสารให้ ตามสำเนาใบส่งสินค้า ใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.32 จำนวนทั้งหมด 111 แผ่น ให้โจทก์ที่ 2 ไปทั้งหมด หลังจากนั้นวันที่ 30 กันยายน 2558 มีบุคคลมาสอบถามนายวิจิตรเกี่ยวกับราคาสินค้าและให้ดูใบส่งสินค้า ใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.32 ทั้งหมดที่นางวรรณาออกให้แก่โจทก์ที่ 2 ไป นายวิจิตรจึงติดต่อทนายความให้สอบถามไปยังจำเลย ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2558 พนักงานจำเลยมาพบและสอบถามนายวิจิตรกับนางวรรณาเกี่ยวกับเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น นายวิจิตรและนางวรรณาจึงเล่าความจริงให้ทราบ พร้อมทั้งจัดทำบันทึกข้อเท็จจริงมอบให้ทางจำเลยไว้ เมื่อจำเลยไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองแล้ว ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2559 เจ้าพนักงานตำรวจสอบปากคำนายวิจิตรและนางวรรณาไว้ เห็นว่า คำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวต่างเบิกความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะพยานจำเลยปากนางวรรณากับนายวิจิตรเจ้าของร้าน ซ. ต่างไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ทั้งสองมาก่อนจึงเป็นพยานคนกลางที่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกเอกสารโดยตรงเนื่องจากเป็นคู่ค้ากับโจทก์ทั้งสอง ซึ่งการออกเอกสารตามที่พยานจำเลยทั้งสองปากเบิกความล้วนเป็นประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้นโดยไม่ปรากฏว่านางวรรณาและนายวิจิตรได้ประโยชน์ใด ๆ ในการออกเอกสารดังกล่าว ทำให้คำเบิกความของพยานจำเลยทั้งสองปากนี้มีน้ำหนัก ทั้งพยานจำเลยทั้งหมดต่างให้การและเบิกความในคดีอาญาที่โจทก์ทั้งสองถูกฟ้อง หากข้อเท็จจริงตามคำเบิกความไม่เป็นความจริงก็อาจถูกฟ้องให้รับโทษทางอาญาได้ คำเบิกความของพยานจำเลยทั้งหมดมีน้ำหนัก ได้ความตามเอกสารที่นายสุรชัย เจ้าของร้าน ส. จัดทำให้จำเลยไว้ ซึ่งมีข้อความระบุว่า "...ประมาณปี 2557 (โจทก์ทั้งสอง) เจ้าของร้าน บ. ได้มาพบ (นายสุรชัย) และขอให้ (นายสุรชัย) ลงนามในใบส่งสินค้าชั่วคราวที่ (โจทก์ทั้งสอง)...ได้ดำเนินการจัดทำขึ้นซึ่งมีรายละเอียดตามเอกสารแนบท้าย...โดย (นายสุรชัย) ไม่ทราบว่าจะนำใบส่งสินค้าชั่วคราวไปดำเนินการอะไร... (นายสุรชัย) ไม่ได้ตรวจสอบว่ายอดรายการซื้อขายที่ (โจทก์ทั้งสอง) ทำเอกสารมา..แต่ด้วยความเชื่อใจจึงลงนามในใบส่งสินค้าชั่วคราวดังกล่าวให้... (นายสุรชัย) ได้ตรวจสอบสำเนาใบส่งสินค้าชั่วคราวดังกล่าว ทั้ง 29 ฉบับ รวมเป็นเงิน 8,198,800 บาท ที่ (โจทก์ทั้งสอง) ได้จัดทำขึ้นแล้ว ขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบดังนี้ ...สำเนาใบส่งสินค้าชั่วคราวของร้าน ส. ทั้ง 29 ฉบับ ...ไม่ใช่ของทางร้าน..ทางร้าน...ไม่เคยใช้ใบส่งสินค้าชั่วคราวในการประกอบกิจการ แต่จะใช้เป็นบิลเงินสดในการเรียกเก็บเงินจากลูกค้า...รายการสินค้าที่สั่งซื้อตามสำเนาใบส่งสินค้าชั่วคราวไม่เป็นความจริง...ราคาสินค้า...ไม่ตรงกับความจริง...ราคาของสินค้าที่ระบุนั้นมีมูลค่าสูงกว่าราคาสินค้าที่ร้าน...ขายให้กับลูกค้าในขณะนั้น..." แม้ในชั้นพิจารณาจำเลยไม่ได้นำนายสุรชัยมาเบิกความก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเอกสารที่ให้นายสุรชัยให้ถ้อยคำแก่จำเลยมีพฤติการณ์ทำนองเดียวกับร้าน ซ. ที่มีการออกเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายสูงกว่าความเป็นจริงจึงสนับสนุนให้พยานจำเลยมีน้ำหนักยิ่งขึ้น เมื่อสำเนาใบส่งสินค้า ใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล. 32 จำนวน 111 ฉบับ และสำเนาใบส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย ล.59 จำนวน 29 ฉบับ ล้วนแต่เป็นเอกสารที่โจทก์ทั้งสองยื่นส่งแก่บริษัท ค. ผู้ตรวจสอบประเมินความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเพื่อพิสูจน์ความเสียหายของโจทก์ทั้งสองต่อจำเลย จึงแสดงชัดเจนว่าหากมูลค่าความเสียหายของสินค้าเป็นจำนวนเงินสูง โจทก์ทั้งสองย่อมเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว โจทก์ที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่า เคยขอให้ร้าน ซ. ออกใบส่งของให้ 3 ครั้ง แต่ปฏิเสธลอย ๆ เพียงว่า ร้าน ซ. เป็นผู้จัดทำเอกสารเอง โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ไปรับเอกสารแต่ไม่ทราบว่าเหตุใดร้านดังกล่าวจึงออกเอกสารหมาย ล.32 ให้โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 1 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า เป็นผู้ไปขอใบส่งสินค้า และใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.59 แผ่นที่ 2 ถึง แผ่นที่ 30 จำนวน 2 ครั้ง จากร้าน ส. เช่นกัน แต่ไม่ทราบว่ามูลค่าที่ซื้อขายกันจะเป็นเงิน 8,198,800 บาท หรือไม่ อันเป็นการผิดวิสัยของผู้ที่อยู่ในฐานะเช่นโจทก์ทั้งสองจะไม่ใส่ใจ และไม่ทราบมูลค่าสินค้าที่ต้องนำมาพิสูจน์ความเสียหายของตน นอกจากนี้ได้ความจากนายเอกภพพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความยอมรับว่า เอกสารที่โจทก์ทั้งสองส่งมอบให้ดังกล่าวพบว่าปริมาณสินค้าและเอกสารไม่สามารถนำมาใช้พิจารณาการมีอยู่ของสต๊อกสินค้าได้ชัดเจนเนื่องจากเมื่อนำจำนวนสินค้าตามใบบิล ใบเสร็จรับเงิน และใบแจ้งหนี้มาทำการจัดวางในพื้นที่ของโจทก์ทั้งสองแล้วพบว่าพื้นที่ของโจทก์ทั้งสองไม่สามารถบรรจุจำนวนสินค้าได้ ประกอบกับความชัดเจนการลำดับเลขที่บิลและใบกำกับภาษีมีการซ้ำซ้อนกัน คำเบิกความของโจทก์ทั้งสองและพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเจือสมกับพยานหลักฐานของจำเลยทำให้พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักยิ่งขึ้น ดังนี้ พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองนำส่งสำเนาใบส่งสินค้า ใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.32 จำนวน 111 แผ่น ของร้าน ซ. และสำเนาใบส่งของชั่วคราวเอกสารหมาย ล.59 จำนวน 29 ฉบับ ของร้าน ส. ซึ่งระบุรายการสั่งซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง อันต้องถือว่าเป็นเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จ และโจทก์ทั้งสองนำเอกสารเท็จดังกล่าวไปใช้เพื่อประกอบการพิจารณาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยให้มีมูลค่าความเสียหายสูงกว่าความเป็นจริง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความข้างต้น และตามสัญญาประกันภัย ข้อ 5 ระบุเงื่อนไขว่า ผู้รับประกันภัยจะไม่รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายภายใต้กรมธรรม์ประกันภัย หากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกระทำโดยเจตนาจะฉ้อฉล หรือมีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือมีการใช้หลักฐานเท็จประกอบการเรียกร้อง... เพื่อให้ได้มาเพื่อผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ตามเงื่อนไขดังกล่าวย่อมหมายความว่า การกระทำโดยฉ้อฉล หรือการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือมีการใช้หลักฐานเท็จประกอบการเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ต้องเป็นการกระทำของผู้เอาประกันภัยต่อผู้รับประกันภัย และต้องเป็นการกระทำภายหลังจากวันที่เหตุวินาศภัยเกิดขึ้นแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำเอกสารอันเกี่ยวกับสต๊อกสินค้าอันเป็นเท็จดังกล่าวไปใช้เพื่อประกอบการพิจารณาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยให้มีมูลค่าความเสียหายสูงกว่าความเป็นจริง จึงต้องด้วยเงื่อนไขอันเป็นข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยแก่โจทก์ทั้งสองในส่วนสต๊อกสินค้าแล้ว แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 เอาประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินแบ่งเป็นทุนประกันภัย 4 ประเภท คือ 1. อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 2. เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราและทรัพย์สินอื่น ๆ 3. เครื่องจักร และ 4. สต๊อกสินค้า (ประเภทเฟอร์นิเจอร์) ส่วนโจทก์ที่ 2 เอาประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินแบ่งเป็นทุนประกันภัย คือ 1. อาคารสิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมฐานราก รวมส่วนปรับปรุงต่อเติมอาคาร) 2. เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราต่าง ๆ และทรัพย์สินอื่น 3. สต๊อกสินค้า (ประเภทเฟอร์นิเจอร์) ลักษณะของสัญญาประกันภัยมีการระบุประเภทความรับผิดในแต่ละส่วนแยกออกจากกันโดยชัดเจน อันเป็นการแสดงเจตนาของคู่สัญญาว่าต้องการแบ่งแยกประเภททรัพย์สินและวงเงินความรับผิดในแต่ละประเภท แม้มีการชำระเบี้ยประกันภัยโดยไม่แบ่งแยกเบี้ยประกันภัยตามประเภททรัพย์สินก็ตาม แต่เมื่อสัญญาประกันภัยแยกประเภทความรับผิดและวงเงินประกันภัยของจำเลยออกจากกันได้ ทางนำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้งถึงราคาและความเสียหายของทรัพย์สินส่วนอื่น คงโต้แย้งเฉพาะความเสียหายเกี่ยวกับสต๊อกสินค้าที่รับประกันภัย การแสดงหรือใช้เอกสารอันไม่ถูกต้องและเป็นเท็จจึงมีเฉพาะในส่วนของสต๊อกสินค้าเท่านั้น แม้สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ต้องการความสุจริตหรือความไว้วางใจระหว่างคู่สัญญาเป็นสำคัญอย่างยิ่งก็ตาม แต่เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่ได้ระบุเงื่อนไขโดยชัดแจ้งว่าหากผิดเงื่อนไขแม้เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งแล้วจะทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยทั้งหมด จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด และเมื่อเงื่อนไขดังกล่าวไม่ชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น" จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องตีความเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยที่ต้องเสียในมูลหนี้ โดยต้องตีความว่าสัญญาประกันภัยได้แบ่งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยออกเป็นประเภทต่าง ๆ โดยระบุวงเงินรับผิดของแต่ละประเภทไว้ เป็นการแยกสัญญาประกันภัยออกเป็นส่วน ๆ ต่างหากจากกันได้ จึงไม่ทำให้สัญญาประกันภัยในส่วนอื่นดังกล่าวข้างต้นที่มีลักษณะแบ่งแยกประเภทความรับผิดทั้งวงเงินที่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยออกจากกันไว้ต่างหากโดยชัดเจนมีผลเสียไปทั้งหมด จำเลยจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดชดใช้เฉพาะความเสียหายสต๊อกสินค้าตามสัญญาประกันภัยเท่านั้น แต่ในส่วนอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราและทรัพย์สินอื่น ๆ รวมทั้งเครื่องจักร จำเลยยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญาประกันภัยตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว โดยจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 ในส่วนอาคารและสิ่งปลูกสร้างวงเงินประกันภัย 10,000,000 บาท เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราและทรัพย์สินอื่น ๆ วงเงินประกันภัย 2,000,000 บาท เครื่องจักร วงเงินประกันภัย 3,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 15,000,000 บาท หักกับเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 5,000,000 บาท และหักกับค่าซากทรัพย์สินที่ขายได้และส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 565,000 บาท คงเหลือจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 9,435,000 บาท และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ที่ 2 ในส่วนอาคารสิ่งปลูกสร้าง วงเงินประกันภัย 18,000,000 บาท เฟอร์นิเจอร์ สิ่งตกแต่งติดตั้งตรึงตราและทรัพย์สินอื่นวงเงินประกันภัย 2,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 20,000,000 บาท หักกับเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 10,000,000 บาท และหักกับค่าซากทรัพย์สินที่ขายได้และส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 485,000 บาท คงเหลือจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 9,515,000 บาท ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน เมื่อจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องแย้งของจำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดในค่าเสียหายเชิงลงโทษต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจประกันภัยย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนโดยต้องคำนึงถึงมาตรฐานวิชาชีพที่เหมาะสมภายใต้ธุรกิจที่เป็นธรรม แต่ปรากฏว่าตั้งแต่เกิดเหตุวินาศภัยจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองอ้างส่งเอกสารสต๊อกสินค้าเพื่อประกอบการพิจารณาค่าสินไหมทดแทนเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งโจทก์ทั้งสองแจ้งแต่แรกว่าเอกสารเกี่ยวกับสินค้าของโจทก์ทั้งสองถูกเพลิงไหม้ทั้งหมด โดยค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องเป็นไปตามวงเงินสัญญาประกันภัย แต่จำเลยปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ต้นโดยให้โจทก์ทั้งสองหาเอกสารมาประกอบการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนสต๊อกสินค้า จนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองหาเอกสารจากร้านค้าคู่ค้าอันเป็นเท็จส่วนหนึ่งเกิดจากฝ่ายจำเลยและบริษัทผู้ประเมินเป็นผู้แนะนำ ภายหลังเมื่อโจทก์ทั้งสองยื่นเอกสารเท็จจำเลยกลับแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสอง ทั้งที่จำเลยก็ทราบว่าบริษัทผู้ประเมินไม่ได้ใช้เอกสารที่โจทก์ทั้งสองยื่นมาประกอบการพิจารณาค่าสินไหมทดแทน ซึ่งได้ความว่าระหว่างเจรจาที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย นายธีรศักดิ์ เจ้าหน้าที่สำนักงาน คปภ. แนะนำในระหว่างเจรจาว่าวงเงินประกันภัยส่วนใดที่รับกันได้ก็ให้จ่ายไปก่อน แต่จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเพียงบางส่วนเท่านั้น ทั้งเมื่อบริษัทผู้ประเมินตามที่จำเลยมอบหมายรายงานการประเมินความเสียหายและค่าสินไหมทดแทน จำเลยก็ปฏิเสธไม่ยอมรับรายงานการประเมินดังกล่าว พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพเพราะจำเลยสามารถชดใช้ค่าเสียหายในส่วนอื่นที่ไม่ได้โต้แย้งให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ การกระทำของจำเลยในฐานะผู้ประกอบธุรกิจเป็นการเอาเปรียบโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 5,000,000 บาท ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 แต่ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษในกรณีนี้มิใช่หนี้เงินขณะฟ้องที่จะนำมาคิดดอกเบี้ยผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทบัญญัติกฎหมายโดยชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี... และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิมแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี... และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 การที่จำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ทั้งสองจึงเป็นหนี้เงิน โจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองเสร็จ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ทั้งสองขอ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผิดนัดถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 โจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เดิม
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น แต่ในส่วนดอกเบี้ยให้จำเลยรับผิดเฉพาะต้นเงินค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดดอกเบี้ยในส่วนต้นเงินค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ โดยให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ทั้งสองแต่ละจำนวนนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ทั้งสองขอ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับ