โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 295, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 10,000 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา สิบเอกยอดเอก ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายและปล้นทรัพย์ ส่วนข้อหามีและพาอาวุธปืน โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสามให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 4,000 บาท จำเลยที่ 2 ฐานลักทรัพย์ผู้อื่น จำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 เดือน ปรับ 9,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานร่วมทำร้ายร่างกายผู้อื่น ส่วนจำเลยที่ 2 ทางนำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณากรณีมีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละกึ่งหนึ่งลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 3 เดือน ปรับคนละ 2,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี แต่กำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติไว้ โดยให้จำเลยทั้งสามไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 2 ปี และให้จำเลยทั้งสามกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสามเห็นสมควรเป็นเวลา 40 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 10,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 40,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ข้อหาอื่นและคำขออื่นให้ยก คืนรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 เสีย คงลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น หลังลดโทษแล้วจำคุก 4 เดือน ปรับ 2,666.66 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมรับราชการเป็นทหารค่ายเสนาณรงค์ ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ขณะโจทก์ร่วมจอดรถยนต์บริเวณริมถนนปุณณกัณฑ์ มีรถยนต์หมายเลขทะเบียน กล 9364 สงขลา ของจำเลยที่ 1 มาจอดขวางหน้าแล้วจำเลยทั้งสามลงจากรถคันดังกล่าวตรงเข้ามารุมทำร้าย โจทก์ร่วมมีบาดแผลบวมแดงบริเวณกกหูขวา ขมับซ้าย แผ่นหลังด้านซ้าย และบาดแผลถลอกบริเวณหางคิ้วขวา ริมฝีปากบนขวา ใต้ตาซ้าย แผ่นหลังด้านขวาใช้เวลารักษาประมาณ 5 วัน ตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลระหว่างรุมทำร้ายจำเลยที่ 2 เอากระเป๋าสตางค์กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ร่วมไปและในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 คืนกระเป๋าสตางค์กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่โจทก์ร่วมตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วม และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานลักทรัพย์โจทก์ร่วมอีกกระทงหนึ่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 10,000 บาทกับให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 40,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสามฐานปล้นทรัพย์และความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ฐานลักทรัพย์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 10,000 บาท โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานลักทรัพย์โจทก์ร่วม และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีในส่วนของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นเงิน 40,000 บาท เห็นว่า สิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาในคดีส่วนแพ่งนั้น ต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และฎีกา เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 10,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 40,000 บาท จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมสูงเกินสมควร จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งจึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับวินิจฉัยให้ในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ และถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (1) วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 4 เดือน ปรับ 3,333.34 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 แล้วเป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในคดีส่วนแพ่ง ยกฎีกาของโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง สำหรับคดีส่วนแพ่งคงให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ