โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 335 ทวิ วรรคสอง, 336 ทวิ ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ประกอบมารตรา 336 ทวิ, 83 จำคุก 7 ปี 6 เดือน คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี 9 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 5,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ นายมานิตย์หรืออิ๊ด กับพวก ร่วมกันลักพระพุทธรูปหน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูง 32 นิ้ว อายุ 50 ปี ราคา 5,000 บาท ของวัดโพพระนอกผู้เสียหายที่เก็บรักษาไว้ในศาลาบำเพ็ญกุศล โดยใช้รถกระบะที่จำเลยจัดหามาเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ขณะลักทรัพย์จำเลยอยู่กับนายมานิตย์และพวกในที่เกิดเหตุด้วย คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยร่วมกับนายมานิตและพวกลักทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของนายมานิตย์และนายสุพีระหรือเน็ต เป็นคำซัดทอด จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และโจทก์ไม่ได้นำนายสุพีระมาเป็นพยานในชั้นพิจารณา ทั้งตามคำเบิกความของนายมานิตย์ก็ฟังได้ว่า นายมานิตย์มีเจตนาที่จะหลอกให้จำเลยเอารถกระบะไปขนพระพุทธรูปจากวัดผู้เสียหายมาตั้งแต่แรกกับบอกให้จำเลยทราบว่าเจ้าอาวาสต้องการให้นำพระพุทธรูปไปลงรักปิดทอง โดยจำเลยมิได้ล่วงรู้ถึงเจตนาที่แท้จริงของนายมานิตย์ที่ต้องการลักพระพุทธรูปและมิได้รับส่วนแบ่งจากการนำพระพุทธรูปไปขาย ส่วนคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นเพียงการยอมรับว่าได้ร่วมไปกับนายมานิตย์จริง แต่มิได้ยอมรับว่าร่วมกระทำความผิดกับนายมานิตย์ด้วยนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้วไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 219 วรรคสอง ประกอบพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23
อนึ่ง แม้ทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันลักจะเป็นพระพุทธรูปและอยู่ในวัดผู้เสียหาย แต่ได้ความว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเก็บไว้ในศาลาบำเพ็ญกุศลหลังเก่าซึ่งเห็นได้ชัดตามภาพถ่ายหมาย จ.8 และ จ.9 ว่าอยู่ในสภาพที่ถูกปล่อยทิ้งร้างและรกรุงรังมิได้จัดวางไว้ในที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนไปสักการบูชาแต่ประการใด รวมทั้งเครื่องบูชาอย่างใด ๆ ไม่มีปรากฏให้เห็นจึงยังถือไม่ได้ว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นที่สักการบูชาของประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ดังนี้ แม้จำเลยจะได้ร่วมกับพวกลักพระพุทธรูปดังกล่าวภายในวัดผู้เสียหาย ก็ไม่เป็นความผิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ทั้งศาลาบำเพ็ญกุศลมีไว้เพื่อใช้จัดงานพิธีศพ จึงมิใช่เป็นสถานที่บูชาสาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (9) การกระทำของจำเลยจึงคงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225 และเมื่อผลคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขโทษให้เหมาะสมด้วย"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุก 6 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง แล้ว คงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7