โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 260,411 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 252,520 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ชำระเงิน 130,497 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 มาตรา 25
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ตามพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเป็นโมฆะหรือไม่ โจทก์ฎีกาทำนองว่า จำเลยยอมรับการให้บริการรักษาความปลอดภัยของโจทก์และได้รับประโยชน์จากโจทก์ตามสัญญาแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตีความกฎหมายตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด ย่อมไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ถือเอาความเป็นจริงว่าคู่สัญญามีเจตนาต่อกันอย่างไร ด้วยข้อจำกัดทางธุรกิจโจทก์จึงให้บริการรักษาความปลอดภัยแก่จำเลยก่อนมีการลงนามในสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยดังกล่าว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การให้บริการรักษาความปลอดภัยต้องทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้…" อันมีความหมายว่าในการให้บริการรักษาความปลอดภัย บริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้างต้องทำสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญา จะถือว่ามีการทำสัญญาเป็นหนังสือไม่ได้ และวรรคสองของมาตรานี้บัญญัติว่า "ให้การให้บริการรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือหรือมีรายการไม่ครบถ้วนตามวรรคหนึ่ง เป็นโมฆะ" ฉะนั้น เมื่อสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยมีเพียงโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับจ้างฝ่ายเดียว ส่วนจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ว่าจ้าง ต้องถือว่าการให้บริการรักษาความปลอดภัยตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ จึงเป็นโมฆะตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้การให้บริการรักษาความปลอดภัยของโจทก์แก่จำเลยจะเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 มิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะ แต่พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติขึ้นโดยเฉพาะเพื่อควบคุมธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยซึ่งมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า การให้บริการรักษาความปลอดภัยต้องทำสัญญาเป็นหนังสือระหว่างบริษัทรักษาความปลอดภัยและผู้ว่าจ้าง มิฉะนั้นเป็นโมฆะ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับแก่การให้บริการรักษาความปลอดภัยได้ เมื่อสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ ดังนั้นเมื่อการรักษาความปลอดภัยมีลักษณะเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งย่อมอยู่ในความหมายของคำว่าทรัพย์สิ่งใดที่สามารถคืนกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ด้วย โดยการคืนทรัพย์สินในกรณีนี้สามารถทำได้ด้วยการกำหนดให้จำเลยใช้เงินเป็นจำนวนเท่ากับบริการที่จำเลยได้รับจากโจทก์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้ดำเนินการให้บริการรักษาความปลอดภัยแก่จำเลยเป็นเวลา 2 เดือน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงิน 236,000 บาท ซึ่งเท่ากับค่าบริการรักษาความปลอดภัยจำนวน 2 เดือน ตามสัญญาฉบับที่ตกเป็นโมฆะ ซึ่งหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี…" ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ เมื่อจำเลยต้องชำระเงิน 236,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดแก่โจทก์ จึงเป็นการผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 สิงหาคม 2561) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 อันเป็นวันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 236,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 236,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1