รายชื่อผู้คัดค้านปรากฏตามคำสั่งศาลแรงงานภาค 8
คดีทั้งสี่สำนวนนี้เดิมศาลแรงงานภาค 8 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 82/2552 ที่ 83/2552 ที่ 87/2552 ที่ 88/2552 ที่ 89/2552 และที่ 90/2552 ของศาลแรงงานภาค 8 โดยให้เรียกผู้ร้องทุกสำนวนว่า ผู้ร้อง และเรียกผู้คัดค้านตามลำดับสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 10 แต่คดีสำหรับผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ยุติในศาลแรงงานภาค 8 ไปแล้ว คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสำหรับผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินอื่นๆ
ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาว่า รับฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ มีบริษัทลูกซึ่งประกอบธุรกิจสนามกอล์ฟ ธุรกิจสปาและธุรกิจโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต โดยลูกจ้างของบริษัทลูกได้จัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมารวม 8 สหภาพ ผู้ร้องเป็นบริษัทลูกซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมชื่อโรงแรมเชอราตัน แกรนด์ ลากูน่า ภูเก็ต เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2552 ผู้ร้องประกาศให้ลูกจ้างทราบว่า จะจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้าง 2 สัปดาห์ และไม่ปรับขึ้นเงินเดือนทำให้ลูกจ้างส่วนหนึ่งไม่พอใจและไปรวมตัวขอเจรจากับผู้บริหารโรงแรม ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2552 กลุ่มสหภาพแรงงานของโรงแรมในเครือลากูน่า ภูเก็ต รวม 8 สหภาพ นำหนังสือไปยื่นต่อกรรมการผู้จัดการบริษัทแม่ขอให้จ่ายเงินโบนัส 1 เดือน และปรับขึ้นเงินเดือนร้อยละ 4 กรรมการผู้จัดการของบริษัทแม่และกลุ่มสหภาพแรงงานดังกล่าวนัดประชุมกันวันที่ 29 มกราคม 2552 แต่ก่อนถึงวันประชุมกลุ่มสหภาพแรงงานของโรงแรมในเครือลากูน่า ภูเก็ต แจกใบปลิวชักชวนให้ลูกจ้างออกมาชุมนุมในวันที่ 29 มกราคม 2552 ในการประชุมกลุ่มสหภาพแรงงานทั้งแปดยืนยันขอเงินโบนัส 1 เดือน และปรับขึ้นเงินเดือนร้อยละ 4 จึงตกลงกันไม่ได้ และเลื่อนไปนัดประชุมกันใหม่ ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 ตัวแทนของกลุ่มสหภาพแรงงานไปขอพบกรรมการผู้จัดการของบริษัทแม่ แต่กรรมการผู้จัดการของบริษัทแม่ไม่อยู่ ในวันเดียวกันมีใบปลิวของกลุ่มสหภาพแรงงานชักชวนลูกจ้างเข้าร่วมชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 12 นาฬิกา ที่สามแยกวายจังชัน บริเวณทางเข้าโรงแรมลากูน่า บีช รีสอร์ท ผู้ร้องประกาศแจ้งลูกจ้างว่าถ้ามีการชุมนุมจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ผู้เข้าร่วมชุมนุมอาจได้รับโทษทางวินัยหรือทางอาญา แต่กลุ่มสหภาพแรงงานของโรงแรมในเครือลากูน่า ภูเก็ต ประกาศตอบโต้มีเนื้อความทำนองว่า ลูกจ้างสามารถออกมาร่วมชุมนุมได้ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 ผู้ร้องนัดผู้แทนกลุ่มสหภาพแรงงานประชุมอีกครั้งในเวลา 10 นาฬิกา แต่ได้รับแจ้งจากตัวแทนฝ่ายนายจ้างว่า ฝ่ายนายจ้างไม่สามารถดำเนินการตามที่กลุ่มสหภาพแรงงานเรียกร้องได้ กลุ่มสหภาพแรงงานยืนยันตามข้อเรียกร้องเดิม ระหว่างนั้นมีการรวมตัวกันของลูกจ้างที่หน้าสำนักงาน ฝ่ายบริหารบริษัทแม่ทั้งหมดลงเรือออกจากบริษัทหลบหนีไปทางด้านหลัง ในระหว่างวันที่ 5 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 กรรมการลูกจ้างและลูกจ้างบางคนของผู้ร้องและของโรงแรมอื่นในเครือประมาณ 250 คน ชุมนุมที่ทางเข้าโรงแรมในเครือลากูน่า ภูเก็ต ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าวพนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตดำเนินคดีอาญาแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 กับพวกรวม 36 คน ต่อศาลจังหวัดภูเก็ต ข้อหาความผิดต่อความสงบสุขของประชาชนโดยร่วมกันปิดถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยในคดีดังกล่าวทุกคนให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดภูเก็ต พิพากษาว่า จำเลยทุกคนมีความผิดให้ลงโทษจำคุกคนละ 15 วัน และปรับคนละ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แล้วศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า การที่ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ 4 และที่ 10 มีบันทึกลงเวลาเข้าทำงานแต่กลับไปอยู่ในบริเวณที่ชุมนุมและผู้คัดค้านที่ 5 ไม่ได้เข้าทำงานเป็นการกระทำความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 9 คือ ไม่มาปฏิบัติงานในวันและเวลาตามที่ได้รับมอบหมาย และข้อ 16 คือละทิ้งสถานที่ทำงานในระหว่างปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า และการที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ทราบคำสั่งของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างห้ามไม่ให้ออกไปชุมนุมแล้ว แต่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ยังคงฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว ถือว่าเป็นการไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 7 และการที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ถูกดำเนินคดีอาญาเป็นการผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 2 คือกระทำความผิดอาญา กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายเกรียงศักดิ์ ผู้คัดค้านที่ 3 นายอนุพงค์ ผู้คัดค้านที่ 4 นายอนันต์ ผู้คัดค้านที่ 5 และนายประพันธ์ ผู้คัดค้านที่ 10 คำขออื่นให้ยก
ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ว่า คำสั่งศาลแรงงานภาค 8 ที่อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ชอบหรือไม่ เห็นว่า ในกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แม้ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องจะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้ แต่ก็หาได้หมายความว่าผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 กับพวกจะมีสิทธิเรียกร้องด้วยวิธีรวมตัวกันชุมนุมประท้วงโดยเดินถือป้ายที่เขียนข้อความไม่สุภาพไปตามสถานที่ต่างๆ ในบริเวณโรงแรมผู้ร้องและโรงแรมในเครือลากูน่า ภูเก็ต โดยนำรถบัสรับส่งพนักงานมาจอดปิดกั้นถนน ใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยในลักษณะปลุกระดมและข่มขู่ว่าจะตัดน้ำตัดไฟหากไม่ได้สิ่งที่ต้องการ รวมทั้งมีการกางเต็นท์กลางถนนทำเป็นสถานที่ปรุงอาหารให้ผู้ร่วมชุมนุมรับประทาน ตบมือเสียงดังแสดงความพอใจต่อคำปราศรัยของฝ่ายผู้คัดค้าน มีลักษณะชักชวนให้ลูกจ้างออกมาชุมนุมประท้วงอันเป็นพฤติการณ์ที่มีลักษณะกดดันผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างไม่ หากผู้ร้องไม่ยินยอมปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 กล่าวอ้าง ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ก็ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลฟ้องบังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น หาจำต้องกดดันผู้ร้องในลักษณะดังกล่าวข้างต้นไม่ เมื่อผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 กระทำการดังกล่าวข้างต้นอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างย่อมมีสิทธิดำเนินการทางวินัยแก่ ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ได้ ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 อ้างว่า การกระทำของตนได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือทางแพ่งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 99 นั้น เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 กับลูกจ้างอื่นร่วมกันชุมนุมประท้วงโดยถือป้ายที่มีข้อความไม่สุภาพ นำรถบัสพนักงานปิดกั้นถนน ปราศรัยในลักษณะปลุกระดมและกดดัน การกระทำในลักษณะต่างๆ ดังกล่าวนั้นย่อมมิใช่การเข้าร่วมเจรจาทำความตกลงกับนายจ้างหรือนัดหยุดงานหรือเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงาน หรือเป็นการชุมนุมหรือเข้าร่วมโดยสงบในการนัดหยุดงานดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 99 เช่นนี้ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 99 เมื่อผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ไม่ได้เข้าทำงานอันเป็นการกระทำความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องความผิดประเภท "ข" ข้อ 9 คือไม่มาปฏิบัติงานในวันและเวลาตามที่ได้รับมอบหมายและถือว่าผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ละทิ้งสถานที่ทำงานในระหว่างปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องความผิดประเภท "ข" ข้อ 16 และการที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ทราบคำสั่งของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างที่ห้ามไม่ให้ออกไปชุมนุมแล้ว แต่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ยังคงฝ่าฝืน ถือว่าเป็นการไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอันเป็นการผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องความผิดประเภท "ค" ข้อ 7 และการที่ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาความผิดต่อความสงบสุขของประชาชนโดยร่วมกันปิดถนนโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเนื่องมาจากการชุมนุมเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 กับพวกจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 คนละ 15 วัน และปรับคนละ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี อันเป็นความผิดที่ร้ายแรง จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องไม่อาจไว้วางใจให้ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ซึ่งมีพฤติการณ์เป็นปรปักษ์ต่อผู้ร้องร่วมทำงานกับผู้ร้องต่อไป มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ได้ ที่ศาลแรงงานภาค 8 มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 5 และที่ 10 ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน