ได้ความว่า ที่ดินพิพาทตามที่โจทก์ฟ้องได้ซื้อขายกันมาหลายทอดจนถึงจำเลย ๆ ได้เข้ายึดถือครอบครองอยู่ก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดินและทั้งจำเลยเคยได้แจ้งการครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้แล้ว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษจำเลยทางอาญา ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 6, 9, 108 พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 10 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลโป่งแยง ฯลฯ พ.ศ. 2492 มาตรา 4 พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 มาตรา 5, 13 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดเขตหวงห้ามที่เขาหรือภูเขาตามความในมาตรา 9(2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสองให้ยกฟ้องโจทก์
ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกามีว่า คดีนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในทางอาญา ก็ต้องให้ได้ความว่า จำเลยมีเจตนาบังอาจหรือจงใจที่จะฝ่าฝืนบทบัญญัติของมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงจะลงโทษตาม มาตรา 108 ได้ แต่ในเรื่องนี้โจทก์ก็แถลงรับตามข้อเท็จจริงที่กล่าวข้างต้น จึงลงโทษจำเลยในทางอาญาไม่ได้ ข้อที่โจทก์อ้างมาในฎีกาว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ก็ยังคงเป็นที่หวงห้ามต่อไปตาม พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 นั้นก็เป็นคนละประเด็นกับที่จำเลยมีเจตนากระทำผิดหรือไม่ และข้อที่โจทก์อ้าง พระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 มาตรา 15 มาประกอบข้อโต้เถียงของจำเลยนั้น กฎหมายฉบับนี้ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แล้วเหตุผลของโจทก์ไม่มีทางลงโทษจำเลยในทางอาญาได้