โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.(ผ) 45/2559 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสิบสองเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 1 (16) หรือไม่ เห็นว่า การกระทำอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานตามบทนิยามแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) ที่บัญญัติว่า "เจ้าพนักงาน" หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ สำหรับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ.2535 มาตรา 5 โดยให้เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีภารกิจทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ในมาตรา 6 บัญญัติถึงการแบ่งส่วนงานในมหาวิทยาลัย อาทิเช่น สำนักงานอธิการบดี สำนักวิชา สถาบัน และศูนย์ มิได้ระบุว่าเป็นการแบ่งส่วนราชการดังเช่นส่วนราชการอื่น ๆ โดยการแบ่งส่วนงานดังกล่าวให้ทำเป็นประกาศของมหาวิทยาลัยโดยประกาศในราชกิจจาบุเบกษา ตามมาตรา 11 รายได้ของมหาวิทยาลัยนอกจากเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีรายได้จากเงินอุดหนุนและทรัพย์สินซึ่งมีผู้ให้แก่มหาวิทยาลัย ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน เบี้ยปรับ และค่าบริการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากการลงทุนและจากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย หรือจากการใช้ที่ราชพัสดุ เป็นต้น รายได้ดังกล่าวไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ในกรณีรายได้มีจำนวนไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสม และมหาวิทยาลัยไม่สามารถหาเงินจากแหล่งอื่นได้ มาตรา 11 วรรคท้าย บัญญัติว่า รัฐบาลพึงจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินให้แก่มหาวิทยาลัยเท่าจำนวนที่จำเป็น และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 12 ในการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะมีสภามหาวิทยาลัยออกข้อบังคับ ข้อกำหนด และประกาศของมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ผู้อำนวยการสถาบัน ผู้อำนวยการศูนย์ ส่วนอธิการบดีมีอำนาจตามมาตรา 24 (3) ในการบรรจุ แต่งตั้งถอดถอนพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้งดำเนินการบริหารงานบุคคลตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า ...เห็นสมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคของรัฐ บทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ.2535 มาตรา 39 ประกอบมาตรา 4 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 และให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี และพระราชบัญญัติระเบียบการปฏิบัติราชการของทบวงมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 มาตรา 3 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกำกับ หมายความว่า มหาวิทยาลัยและสถาบันของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ทั้งมีหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า มีมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการและอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดังนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยจึงไม่เป็นส่วนราชการมาแต่แรก ต่อมามีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 3, 72 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติระเบียบการปฏิบัติราชการของทบวงมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 และให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของทบวงมหาวิทยาลัยตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2562 ใช้บังคับ ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 7 บัญญัติให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการอุดมศึกษา โดยสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเป็นนิติบุคคลและอาจจัดเป็นส่วนราชการหรือเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ.2562 มาตรา 3 วรรคสี่ และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2562 มาตรา 4 วรรคสี่ ได้แบ่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงเป็น 2 ประเภท คือ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดังกล่าว ดังนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังคงมีฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่เป็นส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงดังกล่าว เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ที่ว่าด้วยส่วนราชการของกระทรวงและส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง ไม่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงหรือที่มีฐานะเป็นกระทรวง จำเลยทั้งสิบสองจึงมิใช่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป และเมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะทั้งฉบับ ไม่ปรากฏว่ามีบทมาตราใดบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาด้วย ทั้งไม่มีบทบัญญัติมาตราใดแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ให้การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสิบสองที่เกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำนิยามในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) ดังที่โจทก์อ้าง การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 12 ที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงของโจทก์ จำเลยที่ 1 มีคำสั่งย้ายโจทก์ และจำเลยทั้งสิบสองกระทำให้มีการเปิดเผยข้อมูลการสอบสวนวินัยร้ายแรงโจทก์ตามคำฟ้องจึงมิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 1 (16) ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงผลแห่งคดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน