โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,761,670.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,677,891.34 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,761,670.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,677,891.34 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 14 ธันวาคม 2561) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงินจำนวน 103,375.58 บาท ที่จำเลยชำระแก่โจทก์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 หักจากยอดหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้คืนแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นฎีกาฟังได้ว่า นายยศวีร์ เอาประกันชีวิตไว้กับจำเลยระบุโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ระหว่างระยะเวลาคุ้มครองของสัญญาประกันชีวิต นายยศวีร์ถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โจทก์มีหนังสือเรียกให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ ต่อมาจำเลยมีหนังสือบอกล้างสัญญาภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย และปฏิเสธไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ โดยอ้างว่าสัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า สัญญาประกันชีวิตตามฟ้องเป็นโมฆียะหรือไม่ ซึ่งโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือบอกล้างสัญญาจากจำเลยอ้างเหตุว่า จากการตรวจสอบประวัติการรักษาของนายยศวีร์พบว่านายยศวีร์เคยมีประวัติรับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคไขมันในเลือดสูงตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 ที่โรงพยาบาล น. แต่นายยศวีร์ไม่บอกข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยทราบ สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ จำเลยคืนเบี้ยประกันภัยและเงินบางส่วนให้แต่ปฏิเสธไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน โจทก์ตรวจสอบข้อมูลที่โรงพยาบาล น. ปรากฏว่านายยศวีร์ได้สิทธิประโยชน์ในการตรวจสุขภาพจากโปรแกรมตรวจสุขภาพ ไม่ได้ไปรักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคไขมันในเส้นเลือด โจทก์ร้องเรียนเรื่องนี้ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) นายคณานุสรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. เบิกความว่า สำนักงาน คปภ. ได้รับหนังสือชี้แจงจากผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาล น. ชี้แจงขั้นตอนการเข้ารับบริการของนายยศวีร์ที่โรงพยาบาล น. ประกอบการสอบข้อเท็จจริงจากโจทก์ พยานมีความเห็นว่าการตรวจสุขภาพไม่ใช่การรักษาพยาบาล ประวัติการเป็นโรคความดันโลหิตสูง เป็นเพียงคำบอกเล่าไม่สามารถบ่งชี้ว่าเป็นโรคดังกล่าวหรือไม่ และนายยศวีร์ไม่ได้รับยาใด ๆ จากโรงพยาบาล พยานจึงทำความเห็นเป็นหนังสือให้จำเลยพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่จำเลยคงปฏิเสธ ส่วนจำเลยมีนายราชันต์ พนักงานของจำเลยตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายพิจารณาสินไหมเบิกความว่า นายยศวีร์เป็นผู้ให้ข้อมูลในแบบคำขอเอาประกันชีวิตเองว่า ไม่เคยได้รับการวินิจฉัย หรือรับการรักษาหรือตั้งข้อสังเกตโดยแพทย์ว่าป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง และในระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการตรวจสุขภาพหรือการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค รวมทั้งไม่เคยได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพจากแพทย์มาก่อน ซึ่งเป็นข้อมูลที่จำเลยต้องพิจารณาในการรับประกันชีวิต นายนฤพงษ์ แพทย์โรงพยาบาล น. ผู้ซักประวัติและตรวจสุขภาพนายยศวีร์หรือขณะนั้นใช้ชื่อนายภูมิพัฒน์ในเวชระเบียน เบิกความว่า พยานซักประวัติ ตรวจเลือดและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจนายภูมิพัฒน์ และนายภูมิพัฒน์ให้ข้อมูลว่าตนเองมีอาการโรคความดันโลหิตสูงมาประมาณ 4 ถึง 5 ปี แล้ว ไม่ได้กินยารักษา สูบบุหรี่ ผลการตรวจเลือดพบว่ามีไขมันในเลือดสูง ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีค่าผิดปกติ น่าจะมีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด พยานได้แนะนำให้นายภูมิพัฒน์ทำการตรวจรักษากับแพทย์ด้านอายุรกรรมหัวใจต่อไป แต่พยานไม่ทราบว่านายภูมิพัฒน์จะไปรับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางต่อไปหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาใบคำขอเอาประกันชีวิตมีข้อความว่าท่านเคยได้รับการวินิจฉัย หรือรับการรักษา หรือตั้งข้อสังเกตโดยแพทย์ว่าป่วยเป็นโรคตามรายการท้ายคำถามนี้หรือไม่ ซึ่งมีโรคความดันโลหิตสูงรวมอยู่ด้วย แล้วมีช่องไม่เคย/ไม่มี และช่องเคย/มี โดยมีเครื่องหมายถูกอยู่ที่ช่องไม่เคย/ไม่มี และข้อ 16. ในระหว่าง 5 ปี ที่ผ่านมา ท่านเคยได้รับ ก) การตรวจสุขภาพ การตรวจชิ้นเนื้อ หรือการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค เช่น การเอกซเรย์ การตรวจคลื่นหัวใจ การตรวจเลือด หรือการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษอื่น ๆ หรือไม่ ข) การบาดเจ็บ เจ็บป่วย การผ่าตัด การปรึกษาแพทย์ การแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับสุขภาพ การรักษาในสถานพยาบาลที่มิได้ระบุไว้ข้างต้น และมีเครื่องหมายถูกที่ช่องไม่เคย/ไม่มี ทั้งข้อ ก) และข้อ ข) เมื่อพิจารณาประกอบคำเบิกความของนายนฤพงษ์แพทย์ผู้ตรวจรักษานายยศวีร์หรือภูมิพัฒน์ดังกล่าว จึงเห็นได้ชัดเจนว่า นายยศวีร์รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงนั้น ซึ่งอาจจะได้จูงใจจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา ไม่ว่านายยศวีร์จะได้รับการตรวจรักษาต่อไปตามคำแนะนำหรือไม่ นายยศวีร์เข้าพบแพทย์ด้วยสิทธิประโยชน์ทางใดหรือนายยศวีร์ได้รับการจ่ายยาเพื่อรักษาโรคหรือไม่ ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง รวมทั้งแท้ที่จริงแล้วนายยศวีร์ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องข้อมูลที่จำเลยได้รับขณะทำสัญญาประกันภัยไม่ถูกต้อง และเป็นข้อสำคัญที่จำเลยจะปฏิเสธไม่รับประกันภัย หรือหากจำเลยต้องการรับประกันภัยตามคำขอเอาประกันภัยก็ต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไปว่าจำเลยควรจะเสี่ยงภัยรับประกันชีวิตนายยศวีร์หรือไม่ อีกทั้งข้อวินิจฉัยของแพทย์ก็เป็นการตั้งข้อสังเกตโดยแพทย์ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ไม่ว่าต่อมานายยศวีร์ในฐานะผู้เอาประกันชีวิตจะถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุใด ส่วนที่นายราชันต์ตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่าแบบฟอร์มคำขอเอาประกันชีวิตจะมีเครื่องหมายถูกอยู่ในแบบฟอร์มอยู่ก่อนแล้วโดยระบบคอมพิวเตอร์ ตัวแทนจะเป็นผู้ถามข้อมูลจากผู้เอาประกันภัยก่อน แล้วกรอกเครื่องหมายตามคำตอบของผู้เอาประกันภัย เมื่อแจ้งครบถ้วนแล้ว จึงสั่งพิมพ์ออกมาให้ผู้เอาประกันภัยลงลายมือชื่อ ข้อเท็จจริงดังกล่าวนอกจากไม่เป็นพิรุธแล้ว ยังกลับเป็นข้อสนับสนุนทางนำสืบของจำเลยว่า นายยศวีร์ตอบคำถามตัวแทนของจำเลยด้วยความสมัครใจ การที่นายยศวีร์รู้อยู่แล้วถึงข้อเท็จจริงที่ตนเคยได้รับการตรวจสุขภาพ และแพทย์ให้ข้อสังเกตว่าตนเป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่ไม่เปิดเผยข้อความจริงนั้น ซึ่งหากนายยศวีร์เปิดเผยย่อมจูงใจให้จำเลยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา สัญญาประกันชีวิตตามฟ้องจึงเป็นโมฆียะ เมื่อจำเลยบอกล้างภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก จำเลยไม่จำต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ