โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่โจทก์ฝากไว้กับจำเลย และขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ เพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริง ตามที่ศาลเห็นสมควร
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 105,571,160.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้นต่อศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2513 มีนายทนงเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นางพรรณีและนางสาวนวลฉวีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2544 มีการยื่นคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วนและแก้ไขเพิ่มเติมหุ้นส่วนผู้จัดการโดยเปลี่ยนหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์จากนายทนงเป็นนายวิรัช การยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการดังกล่าวมีการทำเป็นหนังสือมอบอำนาจ ลงวันที่ 8 มีนาคม 2544 โดยระบุว่านายทนง ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการขอมอบอำนาจให้นายภานุเดชเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าในวันที่ 8 มีนาคม 2544 โจทก์โดยนายทนงลงลายมือชื่อในใบคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ โดยแก้ไขเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วนจากนายทนงเป็นนายวิรัช และเปลี่ยนให้นายวิรัชเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทนนายทนง ทั้งนางพรรณีและนางสาวนวลฉวีผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมแล้ว และในวันเดียวกันโจทก์โดยนายทนงมอบอำนาจให้นายภาณุเดชไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการดังกล่าว การจดทะเบียนที่กระทำภายหลัง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2544 อันเป็นเวลาภายหลังที่นายทนงถึงแก่กรรมแล้วตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2544 ก็เป็นไปตามเจตนาของนายทนง และได้แจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อจะได้มีการประกาศการเปลี่ยนแปลงลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้บุคคลภายนอกทั่วไปทราบเท่านั้น เมื่อนายทะเบียนฯ รับจดทะเบียนไว้แล้ว ตราบใดที่ยังไม่มีการร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวหรือมีการเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนนั้นเป็นอย่างอื่น ก็ยังถือได้ว่านายวิรัชเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์โดยชอบ การที่นายภานุเดชได้ดำเนินการจดทะเบียนเพื่อให้นายวิรัชเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการคนใหม่มีจุดประสงค์ให้โจทก์ดำเนินกิจการต่อไปได้ และเป็นไปเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของนายทนงซึ่งเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 ประกอบกับปรากฏจากคำเบิกความของนายวิรัชพยานโจทก์ว่า นายวิรัชเป็นบุตรชายคนโตของนายทนงจึงนับว่าเป็นทายาทของนายทนงหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์คนเดิม ทั้งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดตกลงให้นายวิรัชเข้ามาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการคนใหม่และตกลงให้ห้างฯ ยังคงอยู่ต่อไปมิได้ให้ห้างฯ เลิกไป นายวิรัชย่อมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์โดยชอบ ทั้งยังได้ความว่าก่อนฟ้องคดีนี้ห้างฯ โจทก์ยังดำเนินกิจการอยู่โดยนายวิรัชเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยยังมิได้เลิกห้างฯ โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า นายวิรัชไม่มีอำนาจฟ้องในนามของโจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ดีเนื่องจากศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นสำคัญอื่นๆ ตามอุทธรณ์ของจำเลยและเพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล จึงเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวเสียก่อนตามรูปคดี
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภค ให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภครวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่