โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบหัวกระสุนปืน 5 ชิ้นของกลาง
จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ระหว่างพิจารณา นางสุนิสา มารดานายวีระชัย ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมีค่าปลงศพ 55,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี เป็นเงิน 720,000 บาท รวมเป็นเงิน 775,000 บาท
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่า ขอให้ยกคำร้องของโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฆ่าผู้อื่น ริบหัวกระสุนปืนของกลาง
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 72 วรรคสาม กำหนดโทษให้คงเดิม ยกอุทธรณ์โจทก์ร่วม และยกคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของนางสุนิสา มารดาผู้ตาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นลูกจ้างอยู่คณะลิเกของนายวัฒนา บุตรนายเรวัติ มีหน้าที่ตีกลองตีตะโพน ในคืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 23 นาฬิกา นายวีระชัย ผู้ตายกับพวกประมาณ 7 คน นั่งดื่มสุราห่างจากโรงลิเกดังกล่าวประมาณ 30 เมตร คืนเกิดเหตุไม่ได้มีการแสดงลิเก หลังจากผู้ตายดื่มสุราประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้ตายก็เดินกลับบ้าน เมื่อผ่านโรงลิเกผู้ตายหยิบก้อนหินปาสุนัขที่เห่าและก้อนหินไปถูกโรงลิเกที่นายเรวัติกำลังนอนอยู่ จึงได้โต้เถียงกัน ต่อมาตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้องจำเลยใช้อาวุธปืนลูกซองพกยิงผู้ตาย 1 นัด ถูกบริเวณใบหน้าซีกซ้ายถึงแก่ความตาย ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร และโดยไม่ได้รับใบอนุญาตยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิดำเนินคดีแทนผู้ตายและไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ ตลอดจนไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุและวิ่งไล่ทำร้ายนายเรวัติจากโรงลิเกจนไปถึงที่เกิดเหตุ แล้วใช้มีดฟันแขนนายเรวัติได้รับบาดเจ็บและเตะถีบนายเรวัติจนล้มลงแล้วใช้อาวุธปืนจ่อนายเรวัติพร้อมจะยิงและพูดว่ามึงตายอันเป็นการหมายเอาชีวิตนายเรวัติ นับว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายใกล้จะถึง จำเลยได้ห้ามปรามแล้ว แต่ผู้ตายไม่เชื่อฟัง ในสถานการณ์เช่นนั้นการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในทันทีทันใดจึงเป็นการยับยั้งการกระทำของผู้ตาย และป้องกันชีวิตนายเรวัติ ทั้งจำเลยยิงปืนเพียงนัดเดียว ถือได้ว่าจำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
สำหรับคดีส่วนแพ่งนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงหาต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 449 วรรคหนึ่ง การที่ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) นางสุนิสา มารดาผู้ตายย่อมไม่มีสิทธิดำเนินคดีแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 ตลอดจนไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน