คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองตกลงกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ทั้งสองเป็นเงินจำนวน 12,000,000 บาท ตกลงเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้จำเลยทั้งสองได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 4872 ตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มาจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ทั้งสองภายหลังทำสัญญาจำเลยทั้งสองชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองเพียง 3 ครั้ง หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้อีกเลย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 18,031,186.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 11,166,241.95 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองจนครบ
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ทั้งสองเพียง 6,000,000 บาท ส่วนสัญญาจำนองระบุว่ากู้ยืมเงิน 12,000,000 บาท นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองนำเอาดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน มาบวกเข้ากับต้นเงิน ภายหลังทำสัญญาจำเลยทั้งสองได้ชำระต้นเงินแก่โจทก์ทั้งสองแล้วจำนวน 2,153,500 บาท จำเลยทั้งสองยังคงค้างชำระต้นเงินจำนวน 3,846,500 บาท ขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งว่า ต่อมาประมาณเดือนธันวาคม 2538 โจทก์ทั้งสองผิดนัดไม่ไปไถ่ถอนจำนองตามที่ตกลง ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่สามารถที่จะโอนที่ดินพิพาทที่จำนองให้แก่ผู้ซื้อได้ ซึ่งคิดเป็นค่าเสียหายไม่ต่ำกว่าวันละ 100,000 บาท
ในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้รับฟ้องแย้ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า กรณีมีเหตุสมควรรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม บัญญัติว่า"จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก" หมายความว่า ฟ้องแย้งนั้นต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิม พอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ฟ้องเดิมของโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินกู้ และบังคับจำนองที่ดินที่จำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ จำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าจำนวนหนี้เงินกู้ตามฟ้องไม่ถูกต้องและโจทก์ทั้งสองยังไม่เคยมีหนังสือบอกกล่าวให้บังคับจำนอง จึงไม่สามารถบังคับจำนองได้ คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ทั้งสองจำนวนเท่าใด และโจทก์ทั้งสองมีสิทธิบังคับจำนองหรือไม่ การที่จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายที่ไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทที่จำนองให้แก่ผู้ซื้อได้นั้น เป็นคนละเรื่องคนละประเด็น แตกต่างจากฟ้องเดิมของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้บังคับตามสัญญาเงินกู้และบังคับจำนอง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน