โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ให้จำเลยชำระเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสอง 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 เมษายน 2553) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยยังไม่เกิด เนื่องจากยังไม่ได้ตกลงราคาที่ดินที่จะซื้อจะขายกันให้เป็นที่แน่นอน เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 741 ซึ่งเดิมเป็นของนายโอภาส โดยการทำสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง เพื่อใช้เป็นหลักฐานนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอให้งดการบังคับคดีขับไล่โจทก์ทั้งสองกับพวกออกจากที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 741 ตามข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของคดีนี้ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า นิติกรรมจะซื้อจะขายที่ดินเกิดจากการแสดงเจตนาลวงของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นกลับไปวินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อจะขายยังไม่เกิด เนื่องจากยังไม่ได้ตกลงราคาที่จะซื้อจะขายกันให้เป็นที่แน่นอน การที่จำเลยรับเงินไว้เป็นการรับโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงต้องคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองในฐานลาภมิควรได้ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยในประเด็นนี้มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปว่า สัญญาจะซื้อจะขาย ที่โจทก์ทั้งสองทำกับจำเลยเกิดจากเจตนาลวงหรือไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และเห็นว่า คดีนี้ พยานจำเลยปากนายสามารถ ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยเบิกความตอบศาลว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 741 มีราคาประเมินเพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประมาณ 140,000 บาท ซึ่งเจือสมกับที่โจทก์นำสืบว่า นายโอภาสนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 741 ไปตีใช้หนี้ในราคา 104,375 บาท ซึ่งเป็นราคาตามราคาประเมิน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 741 มีราคาเพียง 100,000 บาทเศษ การที่โจทก์ทั้งสองกับพวกไปทำสัญญาจะซื้อจะขายในราคาเท่ากับมูลค่าหนี้ที่นายโอภาสค้างชำระอยู่แก่จำเลย 939,706.46 บาท เชื่อว่าเป็นการทำสัญญาขึ้นเพื่อนำไปใช้แสดงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อประกอบในการขอให้งดการบังคับคดีตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องและนำสืบ มิได้มีเจตนาจะผูกพันกันตามนั้น ถือได้ว่านิติกรรมดังกล่าวเกิดจากการแสดงเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้จำนวน 70,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา 172 วรรคสอง ส่วนปัญหาอื่นตามฎีกาโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 เมษายน 2553) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7