โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 278, 362, 364, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 365 (1) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานกระทำอนาจาร ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
ระหว่างฎีกา นางแสงเดือนผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานกระทำอนาจารและความผิดฐานบุกรุก โจทก์แถลงว่า นางแสงเดือน เป็นผู้เสียหายจริง ศาลชั้นต้นให้ส่งคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์มายังศาลฎีกาเพื่อสั่ง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2547 เวลากลางวัน จำเลยบุกรุกเข้าไปในห้องนอน อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข โดยไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรานี้ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยมาว่า จำเลยเดินตามผู้เสียหายเข้าไปในบ้านแล้วดึงตัวผู้เสียหายเข้าไปในอ้อมแขน พร้อมกดศรีษะผู้เสียหายลงที่เตียงนอนบุตรชายผู้เสียหาย ผู้เสียหายผลักจำเลยออกจากตัวผู้เสียหายแล้ววิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเข้าไปในเคหสถานโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
อนึ่ง ก่อนจำเลยยื่นฎีกา ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานกระทำอนาจารและความผิดฐานบุกรุกตามคำร้องลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งคำร้องดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคำร้องนั้นโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอีก เห็นว่า ความผิดฐานกระทำอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลย เป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 ส่วนความผิดฐานบุกรุก ศาลฎีกาฟังว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 จึงเป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 366 เช่นกัน เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ส่วนคำร้องของจำเลยลงวันที่ 7 มกราคม 2552 ที่ขอให้ลงโทษสถานเบาและศาลชั้นต้นให้ส่งศาลฎีกาเพื่อสั่งนั้น เมื่อวินิจฉัยว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังกล่าวแล้ว จึงไม่จำต้องสั่งคำร้องนี้อีก
ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ