โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 8, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 334, 335 (11)
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี คำให้การและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยจำคุก 5 ปี และปรับ 20,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้งภายในระยะเวลา 1 ปี กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นและจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ชอบหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทำการรับฝากเงินโดยไม่มีเงินสดมาฝากจริงเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต และทำให้เงินจำนวนหนึ่งของโจทก์ถูกจำเลยเอาไปด้วยการโอนเงินไปเข้าบัญชีเงินฝากของนางสาวนรภัทร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียเงินและโอกาสในการใช้เงินดังกล่าว จึงเป็นความผิดสำเร็จเมื่อเงินโจทก์ถูกโอนไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลักเอาเงินของโจทก์และเบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย เท่ากับศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) เป็นความผิดคนละอย่างที่มีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) จึงมิใช่เป็นความผิดตามบททั่วไปของบทเฉพาะตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง จึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ากรณีไม่จำต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก ซึ่งเป็นบททั่วไปหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อต่อไปมีว่า มีเหตุที่จะลงโทษจำคุกจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง และไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยเบียดบังและลักเงินของโจทก์จำนวน 1,435,000 บาท ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายก็ตาม แต่เมื่อจำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์แล้ว เช่นนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี ก่อนลดโทษจึงเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะลงโทษจำคุกจำเลยให้หนักขึ้นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีก อย่างไรก็ตามจำเลยให้การปฏิเสธ โดยนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาทุจริต แม้จำเลยเบิกความรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยก็ตาม แต่ศาลก็ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีเจตนาโดยทุจริตหรือไม่ตามข้อต่อสู้ของจำเลย เช่นนี้ คำเบิกความของจำเลยจึงไม่เป็นประโยชน์แก่ศาลในการพิจารณาคดีทั้งหมดที่ควรลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง จึงเห็นควรลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากนี้จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งหัวหน้าส่วนผู้ช่วยผู้จัดการที่ปรึกษาธุรกิจขาย มีหน้าที่ให้บริการรับฝากถอนเงินจากบัญชีเงินฝากทุกประเภทให้ลูกค้าภายในวงเงินที่โจทก์กำหนดโดยใช้รหัสประจำตัวของจำเลย กรณีฝากเงินบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์จำเลยมีหน้าที่ตรวจนับเงินสดต่อหน้าผู้นำฝากแล้วบันทึกรายการฝากในใบรับฝากเงินผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ตรวจสอบความถูกต้องของบันทึกการฝากโดยลงลายมือชื่อกำกับการบันทึกรายการ และนำเงินสดส่งให้ผู้รักษาเงินให้ถูกต้องครบถ้วน แต่จำเลยกลับอาศัยโอกาสที่มีตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวฝากเงินสดเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของนางสาวนรภัทร ญาติของจำเลย 2 ครั้ง เป็นเงินจำนวนรวมกันถึง 2,000,000 บาท โดยไม่มีเงินสดมาฝากจริง ทำให้บัญชีเงินฝากกระแสรายวันของนางสาวนรภัทรมียอดเงินฝากเพิ่มขึ้น อันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น พฤติการณ์แห่งคดีถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ซึ่งสมควรที่จะลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่างเพื่อมิให้พนักงานที่มีหน้าที่ดังเช่นจำเลยจะได้ไม่กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก ดังนี้ การที่จำเลยชดใช้เงินคืนให้แก่โจทก์จนครบถ้วนหลังจากที่พนักงานโจทก์พบการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว จึงยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้รับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก อีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่ปรับ ไม่รอการลงโทษจำคุก และไม่คุมความประพฤติของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์