โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับทุนไปฝึกอบรมและศึกษาต่อขั้นปริญญาโท ณ ต่างประเทศ โดยไม่ทำงานชดใช้ทุนคืนแก่โจทก์ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินบาทไทยในจำนวน 3,580.22 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนนี้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน2520 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตามประกาศกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราราคาขายของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 31 มีนาคม 2520 เป็นเกณฑ์คำนวณ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างรายเดือนทำงานในตำแหน่งบรรณารักษ์ของศูนย์เอกสารทางหลวงเอเชีย ซึ่งอยู่ในสังกัดของกองวิเคราะห์และวิจัยของโจทก์และได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของโจทก์ระหว่างที่รับทุนไปฝึกอบรมตามฟ้องโจทก์ วันที่ 25 พฤษภาคม 2515 จำเลยที่ 1ได้ลงชื่อเป็นผู้ให้สัญญาตามแบบสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ นายนิพนธ์ รณะนันทน์ ผู้อำนวยการศูนย์เอกสารทางหลวงเอเชียลงชื่อเป็นผู้รับสัญญา ส่วนจำเลยที่ 2ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระเงินตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรมในต่างประเทศ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ทำไว้กับโจทก์ตามระเบียบว่าด้วยการให้ข้าราชการไปศึกษาฝึกอบรมและดูงานในต่างประเทศ พ.ศ. 2512 แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 รับทุน จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นข้าราชการ และแม้จำเลยที่ 1เคยเป็นลูกจ้างชั่วคราวของโจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราวของโจทก์แล้ว สัญญาเอกสารหมาย จ.10 ไม่ผูกมัดจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า แม้สัญญาตามเอกสารหมาย จ.10 จะใช้แบบตามที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ใช้กับข้าราชการผู้รับทุน โดยที่จำเลยที่ 1 มิได้เป็นข้าราชการหรือได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราวแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สมัครใจทำสัญญาที่มีข้อความตามแบบดังกล่าว อันเป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพื่อจะก่อให้เกิดสิทธิตามข้อความในสัญญาซึ่งชอบด้วยกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว สัญญาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 จึงผูกพันจำเลยที่ 2 ที่ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ ตามเอกสารหมาย จ.11 ด้วยที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.10กับนายนิพนธ์ผู้อำนวยการศูนย์เอกสารทางหลวงเอเชียไม่ได้ทำสัญญากับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ศูนย์เอกสารทางหลวงเอเชียอยู่ในสังกัดของโจทก์ นายนิพนธ์เป็นข้าราชการของโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ดังกล่าวนายนิพนธ์ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ตามที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ทุนที่จำเลยที่ 1 ได้รับไม่ใช่ของโจทก์นั้น ได้ความว่าองค์การสหประชาชาติเป็นผู้ออกค่าเดินทางระหว่างประเทศรัฐบาลอังกฤษภายใต้แผนโคลัมโบออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ระหว่างการฝึกอบรมณ ประเทศอังกฤษ และต่อมารัฐบาลอังกฤษยินยอมขยายเวลาให้จำเลยที่ 1 ศึกษาขั้นปริญญาโททางบรรณารักษศาสตร์อีก 1 ปี ด้วยทุนภายใต้แผนโคลัมโบผ่านกรมวิเทศสหการ จึงถือได้ว่าเป็นทุนที่รัฐบาลต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศมอบให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลไทยตกลงรับทุนนั้น โจทก์เป็นกรมในรัฐบาลไทยที่จะได้รับประโยชน์จากทุนดังกล่าวและได้ให้ตัวแทนทำสัญญากับจำเลยทั้งสอง จึงถือได้ว่าเป็นทุนของโจทก์ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เห็นว่า ปรากฏชัดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 5 ว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ชดใช้เงินคืนพร้อมเบี้ยปรับภายในกำหนดจะต้องเสียดอกเบี้ยจากเงินที่ยังมิได้ชำระอีกในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีด้วย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามสัญญาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งสอง ดังวินิจฉัยมานี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 2ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันให้จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมเฉพาะช่วงแรกระยะเวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1ได้รับทุนให้ศึกษาขั้นปริญญาโทต่อ จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นและมิได้ทำสัญญาค้ำประกันด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในการศึกษาขั้นปริญญาโทของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ทุนที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปฝึกอบรมกับทุนศึกษาต่อขั้นปริญญาโทจะเป็นวิชาบรรณารักษศาสตร์เช่นเดียวกันก็ตาม แต่การศึกษาต่อขั้นปริญญาโทแตกต่างจากการฝึกอบรม มิใช่เรื่องที่ต่อเนื่องจากการฝึกอบรมถือไม่ได้ว่าการศึกษาต่อขั้นปริญญาโทอยู่ภายในขอบของสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้แก่โจทก์ ดังนี้ แม้สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้แก่โจทก์จะมิได้กำหนดอายุของสัญญาไว้ก็ดี แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ตกลงค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ใหม่ในการที่จำเลยที่ 1 ได้รับทุนไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโท จำเลยที่ 2 จึงหาต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับทุนไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโทไม่ คงรับผิดเพียงเฉพาะการไปฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ก่อนศึกษาต่อขั้นปริญญาโทเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือนเท่านั้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์เพียงใด ในปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติในชั้นฎีกาว่า การไปฝึกอบรมรวมทั้งการศึกษาต่อในขั้นปริญญาโทของจำเลยที่ 1 นี้ รัฐบาลอังกฤษได้ออกทุนให้เป็นเงิน2,504.22 ปอนด์สเตอร์ลิง และองค์การสหประชาชาติได้ออกค่าโดยสารเครื่องบินให้เป็นเงิน 1,496.30 เหรียญสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 1ออกเดินทางจากประเทศไทยไปศึกษาและฝึกอบรมตั้งแต่วันที่ 30พฤษภาคม 2515 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2517 รวมเป็นเวลา 2 ปี 45 วันตามสัญญาการรับทุนเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 3 จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมาทำงานชดใช้ตามสัญญาเป็นเวลาสองเท่า คิดเป็นเวลา 4 เดือน 90 วันหรือเท่ากับ 1,550 วัน จำเลยที่ 1 ทำงานชดใช้ทุนตั้งแต่วันที่ 1สิงหาคม 2517 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2518 เป็นเวลา 1 ปี 61 วันหรือเท่ากับ 426 วัน จำเลยที่ 1 ขาดการทำงานชดใช้ทุนอีก 1,124 วันจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 4 ชดใช้ทุนและค่าเดินทางให้แก่โจทก์ตามส่วนเฉลี่ยที่ทำงานชดใช้ทุนคืนไม่ครบและเบี้ยปรับอีก 1 เท่า โดยจะต้องรับผิดชดใช้ทุนคืนเป็นเงิน 1,815.96ปอนด์สเตอร์ลิง และเบี้ยปรับอีก 1 เท่า รวมเป็นเงิน 3,631.96ปอนด์สเตอร์ลิง กับค่าโดยสารเครื่องบินตามส่วนเฉลี่ยเป็นเงิน1,085 เหรียญสหรัฐอเมริกา และเบี้ยปรับอีก 1 เท่ารวมเป็นเงิน2,170 เหรียญสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของจำนวนที่ต้องชดใช้คืนภายในกำหนดตามสัญญาข้อ 5 ด้วย จะเห็นได้ว่าเงินที่จะต้องชดใช้คืนทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวคือเงินทุนรวมทั้งค่าเดินทาง เบี้ยปรับอีก 1 เท่า และดอกเบี้ยดังกล่าวมานี้เป็นเบี้ยปรับที่ลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะชดใช้ให้เมื่อตนไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้เจ้าหนี้ริบและเรียกเอาเบี้ยปรับได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 แต่แม้เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ก็ตามลูกหนี้จะต้องชำระเบี้ยปรับก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับนั้นก่อนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380วรรคแรก, 381 วรรคแรก ในกรณีของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ทำงานชดใช้ทุนให้ครบถ้วนอันได้ชื่อว่าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับ คือทุนการศึกษาและค่าเดินทางตามส่วน กับเบี้ยปรับอีก 1 เท่า รวมทั้งดอกเบี้ยของเงินที่ค้างชำระตามสัญญา ปัญหาต่อไปคือโจทก์มีสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับได้เพียงไร ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ทำงานชดใช้ทุนคืนให้ถูกต้องตามสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่7 กุมภาพันธ์ 2520 ถึงจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้เงินทุนคืนและเบี้ยปรับอีก 1 เท่า รวมเป็นเงินจำนวน 3,580.22 ปอนด์สเตอร์ลิง ต่ำกว่าเงินทุนและเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืนตามจำนวนที่ถูกต้องคือ 3,631.92 ปอนด์สเตอร์ลิง เพราะการคำนวณผิดพลาด ทั้งมิได้ทวงถามค่าเดินทางและเบี้ยปรับ 1 เท่า รวมจำนวน 2,170 เหรียญสหรัฐอเมริกา ศาลฎีกาเห็นว่า เบี้ยปรับในส่วนของเงินทุนนี้ต้องถือว่าโจทก์ได้ทวงถามให้ชดใช้ทั้งหมดตามจำนวนที่ถูกต้องแล้ว หาใช่เพียงเรียกให้ชดใช้ตามจำนวนที่ผิดพลาดดังกล่าวไม่ สำหรับเบี้ยปรับในส่วนของค่าเดินทางแม้โจทก์จะมิได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระด้วย แต่การฟ้องเรียกเอาเบี้ยปรับในส่วนนี้ก็คือการทวงถามหรือการเรียกเอาเบี้ยปรับนั่นเอง ที่ศาลล่างทั้งสองให้ชำระเบี้ยปรับเฉพาะส่วนของทุนการศึกษาตามตัวเลขที่คำนวณผิดพลาดเพียงจำนวนเดียวนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับในส่วนของเงินทุนจำนวน 3,631.92ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2530 เป็นต้นไป และเบี้ยปรับในส่วนของค่าเดินทางจำนวน 2,170 เหรียญสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 2 เฉพาะในการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เวลาไปฝึกอบรมนาน 1 ปี 2 เดือน ซึ่งจะต้องทำงานชดใช้ทุนเป็นเวลาสองเท่าตามสัญญา คิดเป็นเวลา 2 ปี4 เดือน เท่ากับ 850 วัน จำเลยที่ 1 กลับมาทำงานชดใช้ทุน 426 วันจึงยังเหลือเวลาที่จะต้องทำงานใช้ทุนอีก 424 วัน ทางพิจารณาไม่ปรากฏชัดว่ารัฐบาลอังกฤษได้ออกทุนให้เฉพาะการฝึกอบรมเป็นเงินจำนวนเท่าใด คงได้ความว่าทุนที่ให้ทั้งการฝึกอบรมและการศึกษาต่อขั้นปริญญาโทรวมเป็นเงิน 2,504.22 ปอนด์สเตอร์ลิง สำหรับการไปฝึกอบรมและศึกษาต่อนาน 2 ปี 45 วัน หรือเท่ากับ 775 วัน ตามคำของจำเลยที่ 2 ก็คงอ้างลอย ๆ มาว่า เท่าที่ทราบมาค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 9 เดือน เป็นเงิน 514.93 ปอนด์เท่านั้น ดังนี้ เห็นสมควรกำหนดให้คิดเงินทุนในการฝึกอบรมโดยเฉลี่ยตามระยะเวลา โดยคำนวณจากเงินทุนในการฝึกอบรมและการศึกษาต่อขั้นปริญญาโท คูณด้วยระยะเวลาในการไปฝึกอบรม หารด้วยระยะเวลาในการไปฝึกอบรมและศึกษาต่อ ซึ่งคิดคำนวณได้เป็นเงินทุนในการฝึกอบรม1,373.28 ปอนด์สเตอร์ลิง เมื่อจำเลยที่ 1 จะต้องทำงานชดใช้ทุนตามสัญญา 850 วัน ยังเหลือเวลาที่จะต้องทำงานใช้ทุนอีก 424 วันเงินที่จะต้องชดใช้คืนตามส่วนเฉลี่ยจึงเท่ากับเงินทุน คูณด้วยระยะเวลาที่เหลือที่จะต้องทำงานใช้ทุนคืน หารด้วยระยะเวลาที่จะต้องทำงานชดใช้ทุนตามสัญญาทั้งหมด ซึ่งคิดคำนวณได้เป็นเงิน 685.02ปอนด์สเตอร์ลิง และเบี้ยปรับอีก 1 เท่ารวมเป็นเงิน 1,370.04ปอนด์สเตอร์ลิง ส่วนค่าโดยสารเครื่องบินจำนวน 1,496.30 เหรียญสหรัฐอเมริกา นั้น เมื่อคิดคำนวณตามส่วนเฉลี่ยทำนองเดียวกันแล้วเป็นเงินที่จะต้องชดใช้คืน 746.39 เหรียญสหรัฐอเมริกา และเบี้ยปรับอีก 1 เท่า รวมเป็นเงิน 1,492.78 เหรียญสหรัฐอเมริกา
ปัญหาสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์มีว่า เบี้ยปรับตามสัญญาซึ่งกำหนดเป็นเงินตราต่างประเทศนี้ หากจะส่งใช้เป็นเงินไทยจะคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันใด โดยโจทก์ฎีกาว่าจะต้องคิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 1 ตุลาคม 2518 อันเป็นวันผิดนัดไม่ทำงานชดใช้ทุนคืนให้ถูกต้องสมควร มิใช่วันที่ 31 มีนาคม 2520 อันเป็นวันครบกำหนดทวงถามให้ชำระเบี้ยปรับดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสองบัญญัติว่า "การเปลี่ยนเงินนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณสถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน" อัตราแลกเปลี่ยนเงินตามมาตรานี้จึงหมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรี ซึ่งตามปกติจะคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ ที่ทำการขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์และเพื่อความสะดวกแก่การบังคับคดี จึงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ ในวันที่อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนั้นก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษา ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตามประกาศกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราราคาขายของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันครบกำหนดทวงถามเป็นเกณฑ์คำนวณนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน3,631.92 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2520 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระเงินอีก 2,170 เหรียญสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระหนี้ดังกล่าวเป็นเงิน 1,370.04 ปอนด์สเตอร์ลิงและเป็นเงินอีก 1,492.78 เหรียญสหรัฐอเมริกา พร้อมดอกเบี้ยในอัตราและระยะเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ให้คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มี ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่าก่อนวันอ่านคำพิพากษา