ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแจ้งนัดพิจารณาคดีที่ถูกต้องตามกฎหมาย การส่งหมายนัดไปยังทนายความหรือจำเลยโดยวิธีธรรมดา
จำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้คดีตั้งแต่แรก ในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ ทนายความของจำเลยที่ 3 ก็มาศาลโดยสม่ำเสมอโดยมิได้ทอดทิ้งคดี ครั้นถึงวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลย ทนายความของจำเลยที่ 3 ไม่มาศาล แต่ศาลชั้นต้นก็คงให้สืบพยานเฉพาะของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แล้วมีคำสั่ง ให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยที่ 3 แต่ทนายความจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรม เสียก่อนถึงวันนัด จำเลยที่ 3 และทนายความของจำเลยที่ 3 ต่างมี ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานที่แน่นอน ดังนั้น การแจ้งวันนัดพิจารณา สืบพยานจำเลยที่ 3 ให้ฝ่ายจำเลยที่ 3 ทราบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะ ส่งหมายนัดไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 3 หรือ ของทนายความของจำเลยที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นการส่งโดยวิธีธรรมดาก่อน ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 บัญญัติไว้ การที่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประกาศแจ้งวันนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 ไว้ที่ หน้าศาลเพื่อให้จำเลยที่ 3 ทราบแทน จึงเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอน ของกฎหมาย ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 มีผลทำให้กระบวนพิจารณาต่าง ๆ ที่กระทำภายหลังจากนั้นไม่ชอบไปด้วย อีกทั้งกรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ทราบนัดพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 3 แล้ว ประกอบกับเพื่อที่จะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม การที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการ สืบพยานจำเลยที่ 3 แล้วพิพากษาคดีใหม่ต่อไป จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ เห็นสมควรตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 บัญญัติ ให้อำนาจไว้