โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ตกลงซื้อรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน 9ค-7912 และหมายเลขทะเบียน 9ค-7913 ราคาคันละ 393,000 บาท จำเลยได้รับมอบรถยนต์ทั้งสองคันไปจากโจทก์เรียบร้อยแล้ว ต่อมาโจทก์มอบให้พนักงานไปเก็บเงินค่ารถดังกล่าวจากจำเลย จำเลยปฏิเสธโดยอ้างว่าได้ชำระแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาบังคับ
จำเลยให้การว่าได้ชำระราคารถยนต์ทั้งสองคันให้แก่โจทก์แล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 790,120 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ส่งมอบรถยนต์ที่สั่งซื้อพร้อมทั้งทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลยก่อนจะมีการชำระราคา ในการทำทะเบียนรถยนต์ให้แก่จำเลยนั้น โจทก์จะต้องออกใบเสร็จรับเงินล่วงหน้าปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนมอบให้เจ้าหน้าที่ไปพร้อมเอกสารอื่น เพราะถ้าไม่มีใบเสร็จรับเงินเจ้าพนักงานจะไม่ออกทะเบียนให้ ใบเสร็จรับเงินที่นำไปทำทะเบียนนี้เป็นต้นฉบับจะต้องเก็บรักษาไว้ที่กองทะเบียน ภายหลังจากส่งมอบรถยนต์และทะเบียนให้แก่จำเลยแล้ว ปรากฏว่านายประทักษ์เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายของโจทก์ได้นำภาพถ่ายของต้นฉบับใบเสร็จรับเงินที่เก็บรักษาไว้ที่กองทะเบียนไปขอเก็บเงินค่ารถจากจำเลย จำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินค่ารถยนต์ทั้งสองคันให้นายประทักษ์รับไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย ล.14 นายประทักษ์ ได้ปลอมลายมือชื่อนายชัช จูตระกูล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์สลักหลังเช็คและประทับตราบริษัทนำเข้าบัญชีของนายประทักษ์เอาไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้วหลบหนีไป โจทก์จึงมาฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยยังมิได้ชำระค่ารถยนต์ฝ่ายจำเลยอ้างว่าได้ชำระราคารถยนต์ให้กับนายประทักษ์พนักงานของโจทก์ไปแล้ว และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 315 บัญญัติว่า การชำระหนี้จะต้องกระทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือบุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้นายประทักษ์เป็นเพียงพนักงานฝ่ายขายของโจทก์ มีหน้าที่เพียงนำรถยนต์ที่จำเลยสั่งซื้อทะเบียนและเอกสารต่าง ๆ ไปส่งมอบให้แก่จำเลยเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ไปเก็บเงินหรือรับชำระหนี้แทนโจทก์แต่ประการใดนายประทักษ์จึงมิใช่ผู้ที่มีอำนาจรับชำระหนี้แทนโจทก์
อย่างไรก็ดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 318 บัญญัติว่า บุคคลผู้ถือใบเสร็จเป็นสำคัญก็มีสิทธิที่จะรับชำระนี้ได้ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการที่จำเลยชำระค่ารถยนต์ให้แก่นายประทักษ์จะถือว่าเป็นการชำระหนี้ให้แก่ผู้ถือใบเสร็จตามมาตรา 318 หรือไม่ ปรากฏจากคำเบิกความของนายธนัญผู้จัดการฝ่ายขายของโจทก์ และนายสุชาติหัวหน้าแผนกเก็บเงินของโจทก์ว่า ในการออกใบเสร็จรับเงินล่วงหน้า เพื่อไปจัดทำทะเบียนรถให้แก่จำเลยนั้น โจทก์ไม่ได้ถ่ายสำเนาใบเสร็จที่นำไปจดทะเบียนไว้ แต่โจทก์มีคู่ฉบับใบเสร็จดังกล่าวในการเก็บเงิน พนักงานเก็บเงินก็จะถือคู่ฉบับใบเสร็จไปเก็บเงิน ดังนั้นภาพถ่ายจากต้นฉบับใบเสร็จซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กองทะเบียน ซึ่งนายประทักษ์นำไปขอเก็บเงินจากจำเลยจึงหาใช่ใบเสร็จตามนัยของมาตรา 318 ไม่ ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยมีการติดต่อกันอยู่ก่อนแล้ว โดยจำเลยจะส่งรถซึ่งจำเลยรับประกันภัยไว้ไปซ่อมที่โจทก์ การเก็บเงินค่าซ่อม นายชาญณรงค์ก็เป็นผู้มาเก็บเงิน หาใช่นายประทักษ์ไม่ ทั้งการชำระเงินจำเลยก็จะชำระเป็นเช็คขีดคร่อมให้แก่โจทก์ หาใช่เพียงแต่ขีดฆ่าคำว่า "ผู้ถือ" อย่างที่มอบให้แก่นายประทักษ์ไม่ ดังนั้น การที่จำเลยชำระค่ารถยนต์ให้แก่นายประทักษ์จึงหาใช่การชำระหนี้แก่บุคคลผู้ถือใบเสร็จไม่จึงถือได้ว่าจำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้ค่ารถยนต์ให้แก่โจทก์
พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 790,120 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์