กระทรวงพาณิชย์เป็นโจทก์ฟ้องว่า สำนักงานกลางบริษัทจังหวัดเป็นองค์การค้าส่วนหนึ่งของโจทก์ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๘+ บริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยจำกัด ได้ทำสัญญาจ้างเหมาให้สำนักงานกลางบริษัทจังหวัด ขนน้ำตาลจากจังหวัดลำปางมายังจังหวัดพระนคร สำนักงานกลางบริษัทจังหวัดได้จ่างจำเลยขนส่งช่วงน้ำตาลจากจังหวัดอุตตรดิตถ์ถึงท่าเรือจังหวัดพระนคร จำเลยได้ทำผิดสัญญาโดยทำน้ำตาลขาดหายไป ๘๕๘ กระสอบ คิดเป็นเงินค่าเสียหาย ๗๒๖,๐๗๐ บาท ๘๕ สตางค์ จำเลยได้ทำสัญญาปราณีประนอมขอผัดชำระหนี้ เมื่อได้จำนวนที่ขาดหายแน่นอน แต่แล้วจำเลยก็ไม่ชำระ จึงขอให้ศาลบังคับพร้อมด้วยให้จ่ายดอกเบี้ย จำเลยให้การตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทน สำนักงานกลางบริษัทจังหวัด เพราะสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดตั้งขึ้นแต่โดยมติคณะรัฐมนตรี มิได้มี ก.ม.บัญญัติให้เป็นกระทรวงทะบวงกรมขึ้นอยู่แก่โจทก์
ศาลแพ่งดำเนินการพิจารณาชั้นอำนาจฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานทั้ง ๒ ฝ่าย แล้ววินิจฉัยว่า สำนักงานกลางบริษัทจังหวัดเกิดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี ไม่มี ก.ม.ให้ตั้งขึ้นเป็นหน่วยราชการของรัฐบาล สำหรับเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์แทนรัฐบาล ซึ่งมีหุ้นอยู่ในบริษัทจังหวัดต่าง ๆ บริษัทจังหวัดต่าง ๆ ต่างจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่สำนักงานกลางบริษัทจังหวัดหาได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไม่ได้ ค่าใช้จ่ายของสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดใช้เงินทุนหมุนเวียนของบริษัทจังหวัดต่าง ๆ ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ตามโจทก์อ้างว่าได้มีการโอนสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดจากกรมสรรพสามิตต์ กระทรวงการคลังให้ไปอยู่กระทรวงพาณิชย์ตามเอกสารหมาย จ.๑ แต่เอกสารหมาย จ.๑ ไม่มีข้อความตอนใดระบุให้โอนสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดไปอยู่ในความควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ จึงพิพากษาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนสำนักงานกลางบริษัทจังหวัด ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นกระทรวงและมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารแห่งประเทศไทย ๒๔๗๖ มาตรา ๑๔ บังคับว่า การแบ่งราชการออกเป็นส่วนต่าง ๆ ในสำนักงานปลัดกระทรวงและกรม จะทำได้โดยพระราชกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า การตั้งสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดจะต้องทำเป็นพระราชกฤษฎีกาด้วย ถ้าการตั้งสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดเป็นการแบ่งส่วนราชการแล้วไม่มีปัญหา ต้องกระทำเช่นนั้น แต่ถ้าหากเป็นเพียงดำเนินงานของสำนักงานปลัดกระทรวงหรือกรม โดยไม่ใช่เป็นการแบ่งส่วนราชการแล้ว ย่อมกระทำได้โดยไม่ต้องมีพระราชกฤษฎีกากระทรวงพาณิชย์เป็นนิติบุคคลและตกอยู่ในกรอบ ป.พ.พ.มาตรา ๖๙ มีสิทธิและหน้าที่แต่เพียงภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของตน ดังมีกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง ซึ่ง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวงทะบวงกรม พ.ศ.๒๔๘๔ ดังที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๑๗ ทวิ ซึ่งบัญญัติว่า กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ เมื่อพิเคราะห์ถึงการแบ่งส่วนราชการในกระทรวงพาณิชย์มาตรา ๑๗ ตรี และพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการในกระทรวงพาณิชย์แล้ว ไม่มีกรมหรือส่วนราชการใดจัดไว้สำหรับทำการค้าหรือเพื่อหากำไร จึงต้องเข้าใจว่า การพาณิชย์อันเป็นอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์นี้ มีความหมายเพียงแต่ในทางควบคุมส่งเสริม และสนับสนุนการพาณิชย์ของประเทศ โจทก์ไม่ได้แสดงเลยว่า กิจการที่สำนักงานกลางบริษัทจังหวัดกระทำนี้ ตกอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของกรมกองใดในกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังปรากฏว่า สำนักงานกลางบริษัทจังหวัดนี้ได้ตั้งขึ้นเพื่อควบคุมบริษัทจังหวัดต่าง ๆ ไม่ใช่เพื่อทำการรับขนแล้วเอามาจ้างขนต่อ ฉะนั้นที่สำนักงานกลางบริษัทจังหวัดทำสัญญาจ้างจำเลยขนน้ำตาลเพื่อหากำไร จึงเป็นการนอกวัตถุที่ประสงค์ของการตั้งสำนักงานและการกระทำนี้ แม้ผู้กระทำจะกระทำในฐานะเป็นตัวแทนของกระทรวงพาณิชย์ดังโจทก์ฎีกา แต่เมื่อการนั้นอยู่นอกอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ การนั้นก็หาก่อให้เกิดสิทธิแก่กระทรวงพาณิชย์ไม่ กระทรวงพาณิชย์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ การที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ให้ตั้งสำนักงานกลางบริษัทจังหวัดขึ้นก็ดี การที่คณะรัฐมนตรีลงมติให้สำนักงานกลางบริษัทจังหวัดย้ายมาขึ้นอยู่ในกระทรวงพาณิชย์ก็ดี ไม่ทำให้พระทรวงพาณิชย์มีสิทธิและหน้าที่มากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย พิพากษายืน