โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันลักทรัพย์ของโจทก์ไปรวมราคา 4,645 บาทจึงขอให้ลงโทษตาม กฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 293, 294, 295, 63และให้ใช้ราคาทรัพย์
จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เคยเป็นสามีภริยากัน แต่หย่าขาดกันแล้วเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2496 ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์กัน จำเลยที่ 2 และ 3 เป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์เมาสุราทุบตีดุด่าจำเลยที่ 2 ๆ จึงไปอยู่กับจำเลยที่ 1 ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ไปขนของส่วนตัวซึ่งอยู่ที่ร้านโจทก์ จำเลยที่ 3 ไปช่วยจำเลยที่ 2 ขน ไม่ได้เอาทรัพย์อย่างอื่นมาด้วย
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์แล้วงดสืบพยานจำเลย ฟังข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ต่าง ๆ นอกจากเงิน 2,000 บาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยไม่มีเถยยะจิตเป็นโจร ไม่มีมูลเป็นผิดอาญา และจะบังคับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ไม่ได้ พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาโจทก์จึงต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนข้อโต้เถียงทางแพ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 185 เป็นบทบัญญัติขยายอายุความของสิทธิเรียกร้องระหว่างสามีภริยา หาใช่ว่าถ้าทรัพย์สินตกอยู่แก่ฝ่ายใดเกิน 1 ปี แล้วฝ่ายที่ครอบครองทรัพย์อยู่นั้นจะได้กรรมสิทธิ์ไม่ การแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1512 มิได้กำหนดเวลาการใช้สิทธิลงไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตาม มาตรา 164 ส่วนในเรื่องคืนทรัพย์นั้น พยานหลักฐานที่ได้ความยังไม่พอชี้ขาดได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน