โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341, 343 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ปฏิเสธข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ส่วนจำเลยที่ 2ให้การปฏิเสธตลอดข้อหา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 อันเป็นบทหนัก
โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ส่วนจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยทั้งสองร่วมกันจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมาย และในการจัดหางานดังกล่าวจำเลยทั้งสองโดยเจตนาทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชนรวมทั้งผู้เสียหาย ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่าจำเลยจะส่งผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศโดยการหลอกลวงนั้นทำให้จำเลยทั้งสองได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตกับความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับ ซึ่งอาศัยเจตนาในการกระทำผิดแตกต่างแยกจากกันได้ สำหรับความผิดฐานจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น สาระสำคัญอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมาย จำเลยเริ่มกระทำการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อใดก็เกิดเป็นความผิดสำเร็จขึ้นเมื่อนั้น และถ้าการจัดหางานดังกล่าวได้กระทำโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แก่ประชาชนอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงอีกด้วยแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งต่างหากเพราะจำเลยมีเจตนาที่แยกต่างหากจากการกระทำผิดฐานแรก แม้จะได้กระทำในครั้งเดียวคราวเดียวกันการกระทำของจำเลยทั้งสองก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่"
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511 มาตรา 7, 27 อีกกระทงหนึ่งนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.