โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 11,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,400,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 ธันวาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเห็นสมควรให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 เพียงว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบมิใช่ข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่เกี่ยวกับที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ต้องนำสืบ คดีนี้โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 ให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษา... ต่อมาต้นปี 2557 จำเลยเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 เป็นต้นไปจำเลยไม่ชำระค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 อันเป็นการผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยมีสิทธิเพียงถามค้านพยานโจทก์ แต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 199 วรรคสอง ชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ที่ 1 ไม่ปรากฏว่าขณะที่โจทก์ที่ 2 และนายสุวิรัช เป็นพยานเบิกความ จำเลยได้ถามค้านพยานทั้งสองว่า Mr. Ching กับนายสุวิรัชไม่มีอำนาจทำสัญญาแทนจำเลย จำเลยไม่เคยชำระค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 เลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์ที่ 1 ว่า ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2554 จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1 และจำเลยชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 มาโดยตลอด คดีจึงไม่มีประเด็นว่า บุคคลทั้งสอง มีอำนาจทำสัญญาแทนจำเลยหรือไม่อีกต่อไป คงมีประเด็นเพียงว่า จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้างแก่โจทก์ที่ 1 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 เป็นต้นไปตามคำฟ้องหรือไม่เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกเอาข้อเท็จจริงว่าคู่สัญญาฝ่ายจำเลยที่ลงลายมือชื่อสองคนในสัญญาโดยไม่ปรากฏว่าเป็นกรรมการของจำเลยหรือได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ทำสัญญากับโจทก์ทั้งสอง ไม่มีการประทับตราสำคัญของจำเลยมาวินิจฉัย ย่อมถือว่าจำเลยทำสัญญากับโจทก์ทั้งสองไม่ได้ สัญญาไม่ผูกพันจำเลย นำไปสู่การวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องอำนาจฟ้องย่อมเป็นการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่เกี่ยวกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ต้องนำสืบมาวินิจฉัย เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4250/2549 ที่ศาลอุทธรณ์กล่าวถึง ข้อเท็จจริงต่างกับคดีนี้ นำมาเป็นหลักในการวินิจฉัยคดีนี้ไม่ได้ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ฎีกาที่อ้างเหตุผลประการอื่นของโจทก์ที่ 1 นอกจากที่ได้วินิจฉัยมาก็ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง สำหรับประเด็นที่ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ดังกล่าวด้วยแล้วว่าจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัย เพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าออกไปศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว ไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ที่ 1 มีโจทก์ที่ 2 เป็นพยานเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามฟ้องว่า ต้นปี 2557 จำเลยเริ่มทำผิดสัญญา โดยไม่จัดห้องทำงานไม่จัดค่าใช้จ่าย งบประมาณและบุคลากรให้โจทก์ที่ 1 ลักษณะเพื่อบีบบังคับไม่ให้โจทก์ที่ 1 สามารถทำงานได้ตามปกติ และเมื่อเดือนกันยายน 2557 ก็ไม่ได้ชำระค่าจ้าง ซึ่งตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา มีว่า จำเลยจะจ่ายค่าที่ปรึกษาแก่โจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 ให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา โดยให้จำเลยชำระค่าที่ปรึกษาไปจนครบสัญญาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ด้วยตามหนังสือเรื่องการปฏิบัติตามสัญญา เมื่อโจทก์ที่ 2 เป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงเบิกความยืนยัน มีพยานเอกสารเป็นหลักฐานสนับสนุน พยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยต้องรับผิดชำระเงิน 1,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แก่โจทก์ที่ 1 และพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 เสียด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์ แล้วพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยก เป็นการมิชอบ ศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะโจทก์ที่ 1 และจำเลยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์ที่ 2 และจำเลยให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ