ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองปรปักษ์ การโอนที่ดินที่เป็นทางให้เสียเปรียบ และการพิพากษาแก้โฉนดตามส่วนที่ครอบครอง
การที่ศาลเรียกบิดาโจทก์เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในคดีเนื่องจากศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ข. แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 58 จะบัญญัติว่า ผู้ที่ศาลเรียกเข้ามาเป็นคู่ความจะมีสิทธิเสมือนว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องก็ตาม ก็เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ที่ถูกเรียกเข้ามาในคดีเท่านั้น การที่บิดาโจทก์ถูกเรียกเข้ามาในคดี ไม่ใช่เป็นการกระทำของโจทก์ เรียกไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องบุพการีของตน จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534
กฎหมายไม่ได้ห้ามในการนำสืบหักล้างพยานเอกสาร ห้ามแต่การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไข
โจทก์ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาทได้โอนที่พิพาทนั้นให้จำเลยด้วยความสมัครใจอันเป็นทางให้เสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะขอให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนแล้ว และการโอนให้นั้นจำเลยมิได้เสียค่าตอบแทน โจทก์จึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลย และขอให้เพิกถอนการโอนที่ทำให้ตนเสียเปรียบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1300
แม้ในคำขอโจทก์จะไม่ได้ขอให้ถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนดก็ตาม แต่ที่ขอให้เพิกถอน ทำลายนิติกรรมให้จำเลยนั้น ก็เป็นการขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยอยู่ในตัวแล้ว การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนชื่อจำเลยจึงไม่เกินคำขอ
จำเลยร่วมโอนที่พิพาทส่วนของตนและของโจทก์ไปให้จำเลยอื่น โจทก์จะขอให้เพิกถอนการโอนไปถึงส่วนของจำเลยร่วมด้วยไม่ได้ การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการโอนในส่วนของจำเลยร่วมด้วย จึงเป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบ
แม้โจทก์จะไม่ได้อ้างโฉนดพิพาทเป็นพยานก็ตามแต่โจทก์ได้ระบุมาในฟ้องและนำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดพิพาท เป็นส่วนสัดจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งจำเลยก็ได้อ้างโฉนดพิพาทเข้ามาในคดีด้วย ดังนี้ ศาลจึงหยิบยกขึ้นพิพากษาให้แก้โฉนดได้
โจทก์ขอให้แสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของและใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดร่วมกับจำเลยรวม 4 คนนั้น มีความหมายให้แสดงว่าโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของคนละ 1 ใน 4 แม้จะขอมาในลักษณะเป็นเจ้าของร่วมก็ตาม เมื่อได้ความว่าต่างได้ครอบครองเป็นส่วนสัดกันแล้ว ศาลก็มีอำนาจที่จะพิพากษาให้แยกส่วนตามที่ครอบครองเป็นส่วนสัดกันนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (2)
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2509)