โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้ากระดาษทิชชู จำนวน7 แท่นรอง หรือ 840 ม้วน ไว้จากบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน(ประเทศไทย) จำกัด เป็นเงิน 249,501.18 บาท ที่ผู้เอาประกันภัยซื้อจากบริษัทไฟน์เนส จำกัด ในประเทศสวีเดน จำนวน 1,997 กิโลกรัมเป็นเงิน 8,987 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันขนส่งสินค้าโดยบรรทุกด้วยเรือสตุ๊ตการ์ด เอ็กเพรส จากเมืองโกเด็นเบอร์ก มายังกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกใบตราส่งซึ่งแจ้งว่าการรับมอบสินค้าให้ติดต่อจำเลยที่ 2 เนื่องจากเรือสตุ๊ตการ์ด เอ็กเพรส เป็นเรือขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้ามาจอดเทียบท่าเรือกรุงเทพได้ ดังนั้นเมื่อเรือเดินทางถึงท่าเรือสิงคโปร์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงร่วมกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองเรือปิยะภูมิ ขนถ่ายสินค้าลงเรือปิยะภูมิเพื่อขนส่งมายังกรุงเทพมหานครอีกทอดหนึ่ง จำเลยที่ 3ออกใบตราส่งฉบับใหม่แทนใบตราส่งเดิม เรือปิยะภูมิเดินทางมาถึงท่าเรือของบริษัทไทยพรอสเพอร์ตี้เทอมินอล จำกัด ที่จังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 3 และที่ 4ร่วมกันขนถ่ายสินค้าไปเก็บที่โรงพักสินค้า มีการสำรวจสินค้าพบว่าสินค้าเสียหาย 240 ม้วน ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 มีการขนสินค้าไปยังโรงงานของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ประเทศไทย)จำกัด โจทก์จึงให้บริษัทยูไนเต็ด เชอร์เวย์เยอร์ แอนด์ แอดจัสเตอร์สจำกัด สำรวจสินค้าอีกครั้งหนึ่ง พบว่าสินค้า 258 ม้วน หลุดลุ่ยและเปรอะเปื้อนคิดเป็นน้ำหนัก 614.04 กิโลกรัม เป็นเงิน 65,208.89บาท โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยจำนวน65,208.89 บาท เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537 จึงรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน69,363.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน65,208.89 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า โจทก์อ้างว่าสินค้าเสียหาย614.04 กิโลกรัม หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะต้องรับผิดก็ไม่เกิน18,421.20 บาท ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน18,421.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 65,208.89 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้ากระดาษทิชชูจำนวน 840 ม้วน ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ประเทศไทย)จำกัด ไว้จำนวนเงินเอาประกันภัย 249,501.18 บาท จำเลยที่ 1ได้ขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยเรือสตุ๊ตการ์ด เอ็กเพรส จากเมืองโกเด็นเบอร์กมายังกรุงเทพมหานคร ต่อมาเรือสตุ๊ตการ์ด เอ็กเพรสได้ขนถ่ายสินค้าลงเรือปิยะภูมิที่ท่าเรือสิงคโปร์ จำเลยที่ 3เป็นผู้ครอบครองเรือปิยะภูมิและเป็นผู้ขนส่งอื่น เรือปิยะภูมิได้เดินทางต่อมาถึงท่าเรือบริษัทไทยพรอสเพอร์ตี้ เทอมินอลจังหวัดสมุทรปราการ มีการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือและสำรวจสินค้าแล้วพบว่าสินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 1และที่ 3 โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันไปเป็นเงิน65,208.89 บาท และเข้ารับช่วงสิทธิมาเรียกร้องจากจำเลยที่ 1และที่ 3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยชั้นนี้เฉพาะข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ตามใบตราส่ง (Bill of Lading) เอกสารหมาย ล.10มีข้อความที่มีลักษณะเป็นข้อสงวนตามบทบัญญัติในมาตรา 23แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ว่า "เอสทีซี"(STC) ซึ่งแปลว่า "แจ้งว่าบรรจุ" อันหมายความว่า "ผู้ส่งเป็นผู้แจ้งว่ามีสินค้าบรรจุในตู้" แต่โดยความจริงผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่ทราบถึงสภาพ จำนวน ลักษณะของสินค้าที่อยู่ภายในตู้ว่ามีจำนวน สภาพหรือปริมาณเท่าใด ตามเอกสารหมาย ล.10 ระบุไว้ว่าสินค้ามีจำนวน1 ตู้ ซึ่งตามนิยามของมาตรา 3 ที่ว่า "ตู้" หรือภาษาอังกฤษเขียนว่า"A CONTAINER" นั้น จึงมีความหมายเป็น "หน่วยการขนส่ง"(SHIPPING UNIT) ดังนั้น คำว่า "ตู้สินค้า" ในคดีนี้จึงเป็นหน่วยการขนส่งตามความหมายของบทมาตราดังกล่าว ไม่ใช่ม้วนสินค้าเป็นหน่วยการขนส่งดังเช่นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3ให้คำนิยาม "ภาชนะขนส่ง" หมายความว่า ตู้สินค้า ไม้รองสินค้าหรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งใช้บรรจุ หรือรองรับของหรือใช้รวมหน่วยการขนส่งหลายหน่วยเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการขนส่งทางทะเลและให้คำนิยาม "หน่วยการขนส่ง"หมายความว่า หน่วยแห่งของที่ขนส่งทางทะเลซึ่งนับเป็นหนึ่งและแต่ละหน่วยอาจทำการขนส่งไปตามลำพังได้ เช่น กระสอบ ชิ้น ถังตู้ ม้วน ลัง ลูก ห่อ หีบ อันหรือหน่วยที่เรียกอย่างอื่นและมาตรา 59(1)บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการรวมของหลายหน่วย การขนส่งเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกัน ไม่ว่าจะมีการใช้ภาชนะขนส่งบรรจุหรือรองรับหรือไม่ก็ตาม ถ้าระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่งให้ถือว่าของตามใบตราส่งนั้นมีจำนวนหน่วยการขนส่งตามที่ระบุไว้นั้น แต่ถ้ามิได้ระบุ ให้ถือว่าของทั้งหมดที่รวมเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกันนั้นเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง" ดังนั้น ในการวินิจฉัยเกี่ยวกับหน่วยการขนส่งจึงต้องวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงในใบตราส่งว่าระบุจำนวนลักษณะของหน่วยการขนส่งไว้อย่างไร ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า ใบตราส่งสินค้าตามฟ้องตามเอกสารหมาย จ.2 และ ล.10 แม้จะระบุถึงการบรรจุของในตู้คอนเทนเนอร์ 1 ตู้ ก็ตาม แต่ก็ระบุว่าสินค้าของโจทก์บรรจุในกล่อง (Packages) จำนวน 7 กล่องหรือลังอันเข้าลักษณะเป็นหน่วยการขนส่งตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ดังกล่าว จึงเป็นกรณีใบตราส่งระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่งตู้สินค้า (container) จำนวน 1 ตู้ ในกรณีนี้จึงมิใช่หน่วยการขนส่งแต่อย่างใด ส่วนจำนวนม้วนนั้นเป็นเพียงลักษณะของสินค้าแต่ละชิ้นเท่านั้น มิใช่หน่วยการขนส่งเช่นกัน ดังนั้น จึงถือว่าสินค้าที่มอบให้ผู้ขนส่งทำการขนส่งทั้งหมดมีจำนวน 7 หน่วยการขนส่ง แต่สินค้าที่เสียหายปรากฏตามคำฟ้องว่ามีเพียง 2 หน่วยการขนส่งเป็นสินค้าที่เสียหาย 258 ม้วน น้ำหนัก 614.04 กิโลกรัม คิดข้อจำกัดความรับผิดตามน้ำหนักสินค้า 30 บาท ต่อ 1 กิโลกรัมได้ 18,421.20 บาท แต่คิดตามหน่วยการขนส่งได้ 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่งจากสินค้าที่เสียหาย 2 หน่วยการขนส่ง เป็นเงิน 20,000 บาทซึ่งมากกว่าข้อจำกัดความรับผิดคิดตามน้ำหนักดังกล่าว จึงถือว่ามีข้อจำกัดความรับผิด 20,000 บาท แม้สินค้าของโจทก์ที่เสียหายมีมูลค่า 65,208.89 บาท จำเลยที่ 3 ก็รับผิดจำกัดเพียง 20,000 บาทตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58วรรคหนึ่ง และมาตรา 59(1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อจำเลยที่ 3ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 20,000 บาท แล้ว แม้จำเลยที่ 1ผู้ขนส่งซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ร่วมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1ได้ด้วยเพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์